กรมเจ้าท่าจี้เทศบาล อจน.เร่งปิดท่อน้ำทิ้งลงหาดหน้าอ่าวประจวบฯภายใน 30 วัน โรงแรมดังสบช่องประกาศงดจ่ายค่าบำบัดน้ำเสีย

แชร์ข่าวนี้

ภาพ-ข่าว สุรยุทธ ยงชัยยุทธ

กรณีนายคมกฤช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  พร้อมด้วยนายอภิสิทธิ์ คำภิโร หัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3  ปลัดเทศบาลเมืองประจวบฯ  เจ้าหน้าที่จากสำนักองค์การจัดการน้ำเสีย( อจน.) เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.จ.)   ลงพื้นที่ชายหาด หน้าอ่าวประจวบฯ ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ ภายหลังสื่อมวลชนนำเสนอภาพข่าวน้ำเสียจากชุมชนไหลลงชายหาด กว่า 30 จุด ตั้งแต่หน้ากองบิน 5 ถึงสะพานสราญวิถีในแหล่งท่องเที่ยวใจกลางเมืองที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะในจุดที่มีปลายท่อใกล้ โรงแรมหาดทองและร้านอาหารเพลินสมุทร  โดยน้ำจากชุมชนไม่ได้ไหลผ่านท่อเพื่อผ่านระบบบำบัดน้ำเสีย

วันที่  23  มิถุนายน  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  จากการตรวจสอบภายหลังรองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ติดตามสภาพปัญหาเพื่อเร่งรัดในการแก้ไข  ล่าสุดยังมีน้ำเสีย มีกลิ่นเหม็นไหลจากท่อลงชายหาดในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่าตามปกติ   เบื้องต้นเทศบาลเมืองประจวบฯ และองค์การจัดการน้ำเสีย ขอเวลา 7 วัน ในการปรับปรุงท่อน้ำทิ้งทุกจุดบริเวณถนนเลียบชายหาดอ่าวประจวบ ทั้งนี้การปิดท่อดังกล่าวตลอดแนว  เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 หน่วยงาน จะอ้างว่าอาจทำให้มีปัญหาน้ำท่วมเมือง  และ ในระยะสั้นไม่สามารถดำเนินการได้

มีรายงานว่านายอภิสิทธิ์ คำภิโร หัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 มีหนังสือด่วน ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2565 สั่งให้นายกเทศมนตรีเมืองประจวบฯปิดท่อระบายน้ำเสียที่ยังไม่ได้ผ่านการบำบัดไหลลงชายหาดและทะเลบริเวณอ่าวประจวบฯโดยอ้างถึงหนังสือที่เทศบาลและ อจน. ที่ตอบข้อซักสักถามของสำนักงานเจ้าท่าภายหลังมีการ้องเรียน  จากนั้นขอให้เทศบาลดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อไม่ให้น้ำที่ไม่ได้ผ่านการบำบัดไหลลงชายหาดและทะเลบริเวณอ่าวประจวบฯซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน อาจส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและพื้นที่การท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากพื้นที่อ่าวประจวบฯ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด

จ.อ.เสกสรรค์ จันทร  คณะทำงานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น  (คปต.) จ.ประจวบคีรีขันธ์  กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือให้สำนักงานเจ้าท่าดำเนินการแก้ปัญหาเมื่อวันที่  23  พฤษภาคม 2565  ต่อมาเมื่อวันที่ 20  มิถุนายน 2565 ได้แจ้งความดำเนินคดีหัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 และพวก ฐานเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดำเนินการตามมาตรา 119 และ มาตรา 119 ทวิ   พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456  มีโทษทั้งจำและปรับ   มีการชดใช้ค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิด  เนื่องจากมีเอกสารหลักฐานระบุว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าได้ไปสำรวจน้ำจากท่อลงชายหาดแล้ว  ซึ่งถือว่าพบเห็นการกระทำความผิดโดยซึ่งหน้า แต่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย และกรณีที่หัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุอีกครั้งเมื่อเวลา 12.05 น.วันที่ 22 มิถุนายน 2565 ถือว่าเป็นการกระทำความผิดซ้ำต่างกรรมต่างวาระ

“ มีความชัดเจนว่าการลงพื้นที่ของรองผู้ว่าราชการจังหวัด  ซึ่งเห็นการกระทำความผิดโดยซึ่งหน้า แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้น  ถือว่ามีการประวิงเวลา   คณะทำงานได้พิจารณาแล้ว จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป  เพื่อให้มีการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาผลกกระทบสิ่งแวดล้อม  ขณะที่ผู้บริหารเทศบาลต้องชี้แจงเหตุผลกับประชาชนว่าหลังจากสภาผ่านงบจ่ายขาดสะสม 17 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงท่อบำบัดเสียบนถนนเลียบหาดแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ดำเนินการทำโครงการดังกล่าว”  จ.อ.เสกสรรค์ กล่าว

นายนิพนธ์ สุวรรณนาวา  เจ้าของโรงแรมหาดทอง   ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม จ.ประจวบคีรีขันธ์  กล่าวว่า น้ำเสียที่ปล่อยลงชายหาดไม่เกี่ยวข้องกับระบบบำบัดน้ำเสียของโรงแรม  และหลังจากหลายหน่วยงานไปร่วมตรวจสอบดูสถานที่จริงแล้วเชื่อว่าจะมีการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก   หลังจากมีน้ำจากชุมชนไหลลงชายหาดนานหลายสิบปี ซึ่งไม่สมควรเกิดขึ้นกับชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใจกลางเมือง  และจากปัญหาดังกล่าวยืนยันว่าทางโรงแรมจะไม่จ่ายค่าบำบัดน้ำเสียให้กับเทศบาล ซึ่งทราบว่ามีผู้ประกอบการจำนวนมากไม่ได้จ่ายค่าบำบัดน้ำเสียตามที่เทศบาลเรียกเก็บ  เนื่องจากระบบบำบัดขององค์การจัดการน้ำเสีย  ควรมีประสิทธิภาพโดยมีการปรับปรุงอีกหลายด้าน ที่สำคัญไม่ควรปล่อยให้มีน้ำจากชุมชนไหลลงชายหาด

//////////////////////////////////////////

พื้นที่โฆษณา