สระบุรี-ตักบาตรข้าวหลามจี่ เดือนยี่ที่หนองโน สืบสานประเพณีท้องถิ่น **ชาญวิทย์ คำนวนวุฒิ รายงาน**

แชร์ข่าวนี้

จังหวัดสระบุรีโดยองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโนจัดงานตักบาตรข้าวหลามจี่เดือนยี่ สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมของพี่น้องชาวไทยอยู่ในจังหวัดสระบุรี โดยเป็นการนำข้าวเหนียวใหม่ที่เก็บเกี่ยวในฤดูแรกมาเผาเป็นข้าวหลามและนำไปใส่บาตรพระสงฆ์ เป็นการเชื่อได้อานิสงค์ใหญ่  ขณะเดียวกันก็เป็นบูชาและทำบุญให้พระแม่โพสพ ด้วย

วันที่ 6 ม.ค.66 เวลา 09.30 น.ที่ลานเอนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลหนองโน  ถูกประดับตกแต่งสถานที่ไว้อย่างสวยงาม  บ่งบอกถึงเอกลักษณ์พื้นถิ่นของชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยวนดั้งเดิมที่มาอยู่ในจังหวัดสระบุรีหลายชั่วอายุคนแล้ว  ในการจัดงานประเพณีตักบาตรข้าวหลามจี่ เดือนยี่ที่หนองโน ประจำปี 2566  โดยความร่วมมือ ร้อยโทศรีวิชัย ทานะมัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโน ร่วมกับพระครูมงคลธรรมสุนทร เจ้าคณะตำบลหนองโน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และพี่น้องชาวชุมชนไทย – ยวน บ้านหนองโน โดยปีนี้จัดติดตอกันเป็นปีที่ 20  โดยกำหนดจัดงานในระหว่างวันที่ 5-6 มกราคม 2566 นี้ ซึ่งได้มีชาวบ้านจากหมู่บ้านต่าง  ๆ ในตำบลหนองโน ได้จัดขบวนเกวียนโบราณแห่ต้นฉลากภัตที่ตกแต่งสวยงาม  เพื่อเตรียมนำมาถวายพระสงฆ์ ด้วย  โดยงานบุญประเพณีตักบาตรข้าวหลามจี่เดือนยี่ ประจำปี 2566 บ้านหนองโน อ.เมือง จ.สระบุรี  มีนางวชิราภรณ์ เพ็ชรล้อม วัฒนธรรมจังหวัดสระบุรี เป็นประธานเปิดงาน

ประเพณีตักบาตรข้าวหลามจี่เดือนยี่ที่หนองโน มีขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2546 เป็นการจัดงานที่สืบสานวัฒนธรรมประเพณีปฏิบัติที่เก่าแก่ และหาดูได้ยากของชนชาติพันธุ์ทำให้เกิดความน่าสนใจ และจัดติดต่อกันมาเป็นปีที่ 20 แล้ว ณ บ้านหนองโน แห่งนี้

งานบุญประเพณีตักบาตรข้าวหลาม เป็นบุญประเพณีของพุทธศาสนิกชนชุมชนไทย-ยวน หรือโยนกนครเดิม พื้นเพคนหนองโนอพยพย้ายถิ่นมาจากโยนก มีการนำข้าวหลามที่เผานั้นมาใส่บาตรในตอนเช้าเพื่อทำบุญให้แม่โพสพและเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว ส่วนคำว่า “จี่” เป็นลักษณะของการนำข้าวหลามไปย่างหรือเผาหรือปิ้งไฟ จึงมีคำว่าจี่ ต่อท้ายคำว่าทำบุญตักบาตรข้าวหลามจี่ในเวลาต่อมา  โดยไม่มีเหตุผลหรือคำอธิบายใดๆ ประกอบ ทั้งนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันชาวบ้านหนองโนไม่ได้ทำข้าวจี่เหมือนถิ่นอื่นๆ มีแต่เผาข้าวหลามกินกันเท่านั้น กว่า 200 ปี  นับแต่มีการตั้งวัดนองโน

เชื่อกันว่าเป็นอานิสงค์ยิ่งใหญ่ และเพื่อบูชาทำบุญให้แก่แม่โพสพ ให้ช่วยคุ้มครองดูแลข้าวเปลือกในยุ้งฉางหลองข้าวของตน มิให้สิ่งอื่นใดมารบกวน  นำข้าวเหนียวใหม่ที่เก็บเกี่ยวในฤดูกาลแรกของปีมาทำเป็นข้าวหลาม และนำมาใส่บาตรให้พระสงฆ์เพื่อเป็นสิริมงคล รวมทั้งเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของชุมชนในท้องถิ่น

////////////////////////////////////////////////////////

ชาญวิทย์ คำนวนวุฒิ รายงาน