ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่เทศบาลแห่งหนึ่ง นำรถกระเช้าสีส้มบรรทุกซากเสาไฟประติมากรรมสับปะรดทรัพย์สินของทางราชการไปจำหน่ายที่“ แก้วสุวรรณรีไซเคิล” ถนนสุขสมบูรณ์ ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 จากนั้นไปขอเสาไฟกลับคืนพร้อมคืนเงินให้เจ้าของเชียงกง 1,000 บาท เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 ขณะที่หน่วยงานภาครัฐเร่งตรวจสอบ เพื่อหาเจ้าของงบจัดซื้อ จากนั้นจะดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องที่นำเสาไฟไปจำหน่ายในร้านรับซื้อของเก่า เนื่องจากเสาไฟสูง 4 เมตร มีราคารวมค่าติดตั้งต้นละ 8 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท มีมากกว่า 300 ต้น ติดตั้งที่สันเขื่อนริมอ่าวประจวบฯ ตั้งแต่หน้ารั้วกองบิน 5 ถึงค่ายลูกเสือม่องล่าย ระยะทาง 8 กิโลเมตร ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 15 กรกฎาคม
วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ต.อ.ไพทูร พรมเขียน ผกก.สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เรียกลูกจ้างที่ขับรถยนต์กระเช้าสีส้มของเทศบาลแห่งหนึ่งมาให้ปากคำ กรณีมีการนำเสาไฟไปขายที่ร้านของเก่า เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าแจ้งความถูกลักทรัพย์หลังจากเสาไฟสูญหาย ขณะที่การเรียกบุคคลมาให้ปากคำหรือมีหมายเรียกจะต้องมีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษและจะต้องมีพยานหลักฐานเชื่อมโยงถึงกลุ่มบุคคลต้องสงสัย ทั้งนี้ยืนยันว่าได้แจ้งหนังสือให้เทศบาลเมืองประจวบฯ สำนักงานโยธาจังหวัด เพื่อสอบถามว่าหน่วยใดรับผิดชอบ ให้นำเอกสารหลักฐานตามระเบียบพัสดุของทางราชการมาแสดงเป็นเจ้าของทรัพย์
นายสมบูรณ์ เทพประดิษฐ์ ทนายความ อดีตรองประธานสภาเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ อดีตสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) 3 สมัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเสนอญัตติในการประชุมสภาเทศบาลที่ผ่านมา ยืนยันว่า สภาเทศบาลไม่เคยมีมติรับมอบทรัพย์สินเสาไฟสับปะรดที่ติดตั้งบริเวณสันเขื่อนกันคลื่นอ่าวประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ในสภาพชำรุด นอกจากนั้นตนเป็นผู้อภิปรายคัดค้านการรับมอบหลายโครงการที่เสนอเข้ามา เนื่องจากเข้าข่ายผิดระเบียบพัสดุ
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า เพื่อให้มีข้อยุติและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย สำนักโยธาธิการจังหวัด และเทศบาลเมืองประจวบฯควรนำเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ออกมาชี้แจงว่ามีการรับมอบโครงการที่ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติหรือไม่ โดยเฉพาะเทศบาลหากอ้างว่าไม่ได้รับมอบโครงการเหตุใดจึงใช้งบประมาณซ่อมไฟสับปะรดอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันประชาชนที่พบเห็นว่าทรัพย์สินของทางราชการถูกขโมยไปขายให้ร้านของเก่าก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนได้
จ่าเอกเสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หลังจากผู้บริหารระดับจังหวัดมีนโยบายสั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อใช้ประโยชน์จากโครงการร้างจำนวนมากในเขตเทศบาลเมือง ที่ใช้งบพัฒนาจังหวัด งบกรมโยธาธิการฯ โดยเฉพาะรอบพื้นที่เขาช่องกระจก บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัด โดยมีการกำชับให้ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ปรากฎว่าปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
“ จากการตรวจสอบเอกสารย้อนหลังบางโครงการที่โยธาส่งมอบให้เทศบาลดูแลบำรุงรักษา พบพิรุธโดยมีอดีตผู้บริหารระดับจังหวัดรายหนึ่ง ลงนามจัดทำเอกสารบันทึกการรับมอบพัสดุเพียง 3 แผ่น เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 แต่เอกสารดังกล่าวไม่มีการลงวันที่กำกับไว้ในเอกสารพบชื่อนายกเทศมนตรีในขณะนั้น ลงนามรับมอบโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบเขาช่องกระจกใช้งบ 30 ล้านบาท มีหัวหน้าสำนักงานจังหวัด สำนักงานโยธาธิการจังหวัดในขณะนั้นร่วมลงนามในฐานะพยาน แต่ไม่พบหลักฐานว่าเอกสารการรับมอบมีการเสนอผ่านระบบงานสารบรรณของหน่วยงานราชการ “
จ่าเอกเสกสรรค์ กล่าวว่า ต่อมาหลังจากนายกเทศมนตรีรายดังกล่าวถูก คสช. สั่งแขวนจากมาตรา 44 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 รักษานายกฯได้เสนอญัตติเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 เพื่อให้สภาเทศบาลยกมือผ่าน 14 เสียง ก่อนที่ผู้บริหารระดับจังหวัดรายหนึ่งจะเกษียณอายุราชการเพียง 6 วัน ซึ่งในเอกสารการประชุมพบว่านายกเทศมนตรีคนปัจจุบัน ได้ยกมือเห็นชอบในฐานะ ส.ท. ขณะนั้น ดังนั้นเพื่อความชัดเจนจึงควรแจ้งให้ฝ่ายกิจการสภานำเอกสารประกอบญัตติมาแสดงให้ประชาชนรับทราบว่า มีการรับมอบเสาไฟสับปะรดหรือไม่ ” จ่าเอกเสกสรรค์ กล่าว
//////////////////////////////////////////////////
สุรยุทธ ยงชัยยุทธ รายงาน