นักวิชาการ มธ.-ศานนท์”ชูสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน

แชร์ข่าวนี้

นักวิชาการ มธ.-ศานนท์”ชูสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน

วงเสวนาเห็นร่วม สร้าง “พื้นที่ปลอดภัย”ให้เยาวชนในการแสดงออกทางความคิด “ศานนท์” รองผู้ว่าฯกทม.ย้ำกทม.จัดพื้นที่ปลอดภัยคือจุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ขณะที่นักวิชาการชี้ การเมืองไม่ใช่แค่เลือกตั้งแต่คือวิถีชีวิต

ในวงเสวนา เรื่อง “เยาวชน การเมืองและข่าวปลอม” ที่หอประชุมศรีบูรพา(หอประชุมเล็ก) ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา  มีวิทยากรจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ  คือ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ,ดร.มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช  อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์   ,น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวสามมิติและผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporter และ นายธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวการเมือง The Standard

นายศานนท์ กล่าวว่า ปัญหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนต้องมองไปที่รากของปัญหาคือ การขาดการมีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกแสดงความคิดเห็น ที่ผ่านมามีวัฒนธรรมกดทับหลายเรื่องจนทำให้ไม่เกิดการมีส่วนร่วมจากเยาวชน เมื่อมีพื้นที่ปลอดภัยจะเกิดการมีส่วนร่วม เช่นกทม.กำลังจะทำ”ย่านสร้างสรรค์” ชุมชนไหนอยากเปลี่ยนแปลง 10ชุมชนนำร่อง เยาวชนและชุมชนแจ้งมาว่าอยากทำถนนคนเดิน อยากทำกีฬา เราเริ่มเปลี่ยนจากการสั่งการจากกทม.ไปเขตให้ทำตามนโยบายแต่ดูว่าสิ่งที่ต้องการจากชุมชนขึ้นมาคืออะไรแล้วกทม.จะสนับสนุน ให้ชุมชนที่อยากผลักดันชุมชนตัวเอง รากของการสร้างการมีส่วนร่วมขั้นพื้นฐาน

“อย่าไปมองว่าไปม๊อบไปโครงสร้างใหญ่มองจากเริ่มใกล้ตัวบ้านตัวเอง  กทม.กำลังสนับสนุนสิ่งนี้ เมืองจะดีขึ้นได้ไม่ใช่กทม.ทำ เมืองจะดีต้องให้เยาวชนเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีพื้นที่ปลอดภัยไม่มีวัฒนธรรมทางสังคมที่ดี เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น การมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือด้านอื่นๆก็จะตามมา”

 

ดร.มนต์ศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมมักจะผลักคำว่าการเมืองออกไปไกลตัวของเยาวชน  แต่ในความเป็นจริงการเมืองคือกระบวนการตัดสินใจในการมีส่วนร่วมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การเมืองคือวิถีชีวิตตั้งแต่บริบทของครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสังคม เช่น การตัดสินใจกินข้าวนอกบ้าน การตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัย การเมือง มีทั้งเรื่องหน้าที่ และสิทธิคือเสรีภาพในการแสดงออกแสดงความคิดเห็น แต่ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ถูกปลูกฝังให้กับเยาวชนว่าให้รู้แค่หน้าที่ ซึ่งหลายเรื่องอาจไม่สอดคล้องกับสิทธิและหน้าที่หรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำคือการสร้างบรรยากาศให้เกิด Active citizen

“สังคมเรายังไม่สามารถแสดงออกทางความคิดเห็นได้อย่างอิสระ  สังคมยังมีการตีกรอบกดทับ สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงได้คือการมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงออกทางความคิดเห็น ขณะที่ส่วนสำคัญสำหรับเยาวชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองคือ การเปิดใจให้เริ่มจากการฟังและเริ่มตั้งคำถามได้เช่นการแต่งตัวชุดนักศึกษา แต่งกายตามเพศสภาพ การไว้ผมยาว  สิ่งเหล้านี้ทำได้หรือไม่อย่างไร”

สำหรับวงเสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การเมืองเยาวชนร่วมสมัยกับการส้รางเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม” โดยมีหัวหน้าวิจัยคือ ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และดร.นิพนธ์ ตั้งแสงประทีป โปรดิวเซอร์ และผู้ดำเนินรากยาร Big story ไทยพีบีเอส ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)