ลพบุรี  ปิดการฝึกหน่วยปฎิบัติการพิเศษเหล่าทัพประจำปี 2566** กฤษณ์ สนใจ รายงาน

แชร์ข่าวนี้

ลพบุรี  ปิดการฝึกหน่วยปฎิบัติการพิเศษเหล่าทัพประจำปี 2566

ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) เป็นประธาน ปิดการฝึกร่วมบูรณาการ หน่วยปฏิบัติการพิเศษเหล่าทัพ ตามแผนป้องกันประเทศ ประจำปี 2566

พลโท ณัฐวุฒิ นาคะนคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เป็นประธาน  ปิดการฝึกร่วมบูรณาการ หน่วยปฏิบัติการพิเศษเหล่าทัพ ตามแผนป้องกันประเทศ ประจำปี 2566 ณ  สนามกองพลรบพิเศษที่ 1 ค่ายเอราวัณ ต.เขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี

ซึ่งกองบัญชาการกองทัพไทย ได้มอบให้ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เป็นหน่วยจัดการฝึก ของหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษร่วม ซึ่งเป็นการฝึกแบบบูรณาการ โดยได้นำการฝึกตามวงรอบของหน่วย มาทำการฝึกร่วมกันตามแผนป้องกันประเทศ ประจำปี 2566 โดยหน่วยที่เข้ารับการฝึก เป็นกำลังพลของหน่วยปฏิบัติการพิเศษเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกจากนั้น หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ยังได้จัดกำลังพลที่ปฏิบัติงานในศูนย์ปฏิบัติการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษมาร่วมรับการฝึกด้วย ทำให้การฝึกมีความสมบูรณ์ในการใช้กำลังของหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษร่วม ตามแผนป้องกันประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งการฝึกในครั้งนี้ ใช้ชื่อการฝึกว่า  “การฝึกบูรณาการขีดความสามารถนักรบพิเศษ”

โดยมี กำลังพลจาก ศูนย์ปฏิบัติการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ  กองพลรบพิเศษที่ 1 ศูนย์การบินทหารบก หน่วยปฏิบัติการพิเศษกองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจ  เป็นหน่วยจัดกำลังพล และยุทโธปกรณ์ เข้าร่วมการฝึกรวม  541   นาย โดยมี ห้วงการฝึก รวม 5 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา โดยแบ่งขั้นการฝึก ตามแผนป้องกันประเทศ ประกอบด้วย การฝึกในการเตรียมกำลังในการสนับสนุนแผนป้องกันชายแดน  การฝึกตามแผนเผชิญเหตุของกองทัพบก และ การฝึกตามแผนป้องกันประเทศของกองทัพไทย การฝึกแก้ปัญหาที่บังคับการ และการฝึกภาคสนาม

ทั้งนี้ เพื่อให้ กำลังพลได้รับความรู้ในเรื่องการวางแผนร่วม การอำนวยการยุทธ์ของหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษร่วม พื้นฐานการปฏิบัติการพิเศษร่วม ของหน่วยปฏิบัติการพิเศษเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  การแทรกซึมเข้าทางอากาศเบื้องสูงทางยุทธวิธีเข้าพื้นที่ปฏิบัติการ การปฏิบัติงานร่วมกับข่ายปฏิบัติการพิเศษของศูนย์ปฏิบัติการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ที่เตรียมการไว้ตั้งแต่ยามปกติ  การปฏิบัติงานร่วมกับอากาศยาน การส่งกำลังทางอากาศ และเทคนิคการปฏิบัติการพิเศษของแต่ละเหล่าทัพ การค้นหาและช่วยชีวิต  การปฏิบัติการจิตวิทยาสนับสนุนการปฏิบัติการ  ตลอดจนเข้าใจภารกิจและบทบาทของหน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วม ตามแผนป้องกันประเทศ สามารถนำผลการฝึกที่ได้รับไปพัฒนาแผนปฏิบัติการแต่ละขั้น ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น   นอกจากนั้นแล้วหน่วยยังสามารถนำผลการฝึกในครั้งนี้ไปปรับพัฒนาหลักนิยมการปฏิบัติการพิเศษร่วม และหน่วยสามารถนำไปเป็นแนวทางในการฝึกกำลังพลของหน่วยให้มีความพร้อมในการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและภัยคุกคามมากยิ่งขึ้น

** กฤษณ์ สนใจ รายงาน