ศธ.จัดอบรม “ครูไทยยุคใหม่ เข้าใจการเงิน” ยกระดับสมรรถนะเสริมสร้างการบริหารจัดการทางการเงินอย่างยั่งยืน** สมบัติ ผลกิจ รายงาน

แชร์ข่าวนี้

 

ศธ.จัดอบรม “ครูไทยยุคใหม่ เข้าใจการเงิน” ยกระดับสมรรถนะเสริมสร้างการบริหารจัดการทางการเงินอย่างยั่งยืน

วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 “ นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนทางการเงิน หลักสูตร “ครูไทยยุคใหม่ เข้าใจการเงิน” ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีนายปราโมทย์ ด้วงอิ่ม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมจันทรเกษม

ปลัด ศธ.กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายสำคัญให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนนั้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถือเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ ศธ.กระทรวงการคลัง (กค.) และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีเป้าหมายให้ครูฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความพร้อม มีขวัญและกำลังใจที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่

ศธ.โดยสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการขับเคลื่อนการเสริมสร้างวินัยทางการเงิน การวางแผนทางการเงินและการจัดการหนี้ของครูฯ อย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรม โดยการพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับข้าราชการครูบรรจุใหม่ และข้าราชการครูทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังก่อร่างสร้างตัวให้มีความรู้ สร้างวินัยการบริหารจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อไม่นานมานี้โลกได้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่าเป็นยุคของ VUCA World ซึ่งเป็นสภาวะความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน ยุ่งเหยิง ของ Digital Disruption ครูไทยจึงต้องเร่งยกระดับพัฒนาทักษะตนเองไม่ว่าจะในด้านทักษะด้านนวัตกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็น ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี รู้จักติดตามข้อมูลข่าวสาร ทักษะด้านชีวิตและอาชีพ พร้อมศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อร่วมกันสร้าง พัฒนา หล่อหลอมเด็กและเยาวชนให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพ เปี่ยมไปด้วยทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุค VUCA World หรือให้ถูกต้องจริง ๆ ต้องเป็นโลกยุค BANI World ที่รวมเอา VUCA World, Digital Disruption, สังคมสูงวัย และโรคอุบัติภัยใหม่ ๆ เข้าด้วยกัน เป็นโลกที่เปราะบาง เต็มไปด้วยความกังวล เข้าใจได้ยาก และไม่สามารถคาดการณ์ได้

“สำหรับหลักสูตร “ครูไทยยุคใหม่ เข้าใจการเงิน” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ได้ถูกพัฒนาให้เหมาะสมกับกลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ อายุราชการ 6 – 25 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่กำลังวางแผนสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว ได้เรียนรู้และวางแผนบริหารจัดการการเงินได้อย่างเหมาะสม โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันทางการเงิน และสามารถวางแผนการออม การลงทุนที่เหมาะสมกับรายได้และมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งเป็นการพัฒนาผ่านระบบออนไลน์จากแพลตฟอร์ม “KHURU Online” ของ สคบศ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้ารับการพัฒนาในครั้งนี้จะมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเข้ารับการพัฒนาเพื่อรับความรู้ สร้างความเข้าใจให้เกิดทักษะในการวางแผนการบริหารจัดการการเงิน และวางแผนการออมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

การอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สถาบันอุดมศึกษา, ธนาคารแห่งประเทศไทย, บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านต่าง ๆ มาบรรยายให้ความรู้ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา บุคลากรอื่น ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีอายุราชการระหว่าง 6 – 25 ปี จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ครูฯ ผู้เข้ารับการพัฒนามองเห็นโอกาสในการยกระดับคุณภาพทางวิชาชีพ รวมทั้งมีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการการเงินและการจัดการหนี้ ตลอดจนเสริมประสบการณ์ ด้านดิจิทัลภัยทางการเงินและช่องทางการหารายได้เสริม

โดยในรุ่นที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 21 กรกฎาคม 2566 ผ่านระบบออนไลน์ มีผู้สมัครเข้ารับการพัฒนาจำนวนทั้งสิ้น 2,545 คน ทั้งนี้จะนำปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดจากครั้งแรกไปถอดบทเรียนเพื่อนำไปพัฒนาการอบรมในรุ่นที่ 2 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่เพื่อนครูต่อไป

** สมบัติ ผลกิจ รายงาน