กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ลงพื้นที่น่าน ติดตามงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ ฯ เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร สร้างจิตสำนึกในการดูแลป่าและสร้างชุมชนเข้มแข็ง

แชร์ข่าวนี้

 

กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ลงพื้นที่น่าน ติดตามงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ ฯ เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร สร้างจิตสำนึกในการดูแลป่าและสร้างชุมชนเข้มแข็ง

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 นายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มอบหมายให้ นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาหลักสูตร ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน และ นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย นำคณะผู้แทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  ผู้ทรงคุณวุฒิและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ร่วมติดตามผลการดำเนินงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ณ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) บ้านบวกอุ้ม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน โดยมีภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่ร่วมนำเสนอข้อมูลการบูรณาการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ อาทิ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหาร ผู้แทนจากกรมพัฒนาชุมชน และหน่วยงานสาธารณสุข เป็นต้น

สำหรับโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ ฯ นั้น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) หรือสำนักงาน กศน. เดิม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ลดรายจ่าย สร้างรายได้ สร้างจิตสำนึกในการดูแลป่า และสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยการทำงานแบบมีส่วนร่วม และจากการติดตามงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ ฯ ณ แปลงเกษตรกรตัวอย่าง บ้านบวกอุ้มในครั้งนี้ พบว่าการดำเนินตามโครงการมีการขยายผล ต่อยอดความสำเร็จเห็นเชิงประจักษ์เป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันกลุ่มสร้างป่า สร้างรายได้บ้านบวกอุ้ม มีจำนวนสมาชิก 49 คน พืชที่ปลูกและสร้างรายได้มากที่สุด ได้แก่ กาแฟพันธุ์อาราบิก้า และต้นก๋ง ที่เป็นวัตถุดิบในการทำไม้กวาด โดยในปีนี้กาแฟสามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 170 -200 บาท หากเป็นพันธุ์ต้นกล้ากาแฟ จะเพาะขายในราคาต้นละ 15-20 บาท ส่วนดอกหญ้าก๋งราคากิโลกรัมละประมาณ 80 บาท ซึ่งผลผลิตทั้ง 3 ประเภทนี้ ตลาดยังมีความต้องการเป็นจำนวนมาก ทำให้กลุ่มสมาชิกผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

นอกจากนี้ ครู ศศช.ยังสามารถขยายผลโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ไปยังหมู่บ้านอื่นๆอีก 76 หมู่บ้าน  ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกได้อย่างทั่วถึง และนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกรมส่งเสริมการเรียนรู้

โดย ผู้บริหาร สกร.และครู ศศช.ในพื้นที่ได้ส่งเสริม จัดฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ ดูแลการปลูก รวมทั้งสนับสนุน แนะนำช่องทางการตลาดและช่วยเหลือชาวบ้านในการดำเนินโครงการให้เกิดความยั่งยืน โดยบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เป็นอย่างดี เพื่อส่งเสริมโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ ฯ ให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถรักษาธรรมชาตินิเวศและทรัพยากรในพื้นที่ เกิดการพัฒนาชุมชนเพื่อความยั่งยืนต่อไป

** สมบัติ ผลกิจ รายงาน