ข้องใจหน่วยงานรัฐใช้หอประชุมอำเภอเมืองประจวบฯเก็บสารพิษมูลค่า 32.8 ล้านบาทของเอกชน นานเกือบ 10 ปี

แชร์ข่าวนี้

ภาพ-ข่าว สุรยุทธ ยงชัยยุทธ

วันที่ 8 มีนาคม จ่าเอกเสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายต่อต้านการทุจริต จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบการใช้ประโยชน์หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ กรณีเก็บสาร บีที ใช้กำจัดแมลงดำหนามในสวนมะพร้าว มูลค่า 32.8 ล้านบาท ในหอประชุมใจกลางเมือง ใกล้โรงเรียนอนุบาลจังหวัด และทราบว่ามีการเก็บสารเคมีชนิดเดียวกันอีกมูลค่า 24 .7 ล้านบาท กองไว้ในเมรุร้าง ที่วัดนาหูกวาง อ.ทับสะแก จนหมดอายุการใช้งาน หลังจากเมื่อปีงบประมาณ 2555 มีการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินเพื่อจัดซื้อสาร บีที สำหรับกำจัดแมลงในสวนมะพร้าว แต่กรมวิชาการเกษตรมีหนังสือด่วนที่สุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 แจ้งว่าบริษัทคู่สัญญาในการจัดซื้อกับหน่วยงานในจังหวัดได้นำสินค้าที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ไม่ได้แจ้งเพื่อดำเนินการผลิต จึงไม่สามารถนำมาจำหน่ายกับทางราชการได้ ทำให้การระบาดของหนอมหัวดำเมื่อหลายปีก่อนส่งผลกระทบกับผลผลิตมะพร้าวในจังหวัด เป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องอนุมัติมะพร้าวนำเข้าจากต่างประเทศหลายแสนตัน

“ ทราบว่าบริษัทเอกชนผู้จำหน่ายได้นำสินค้าทั้งหมดเก็บไว้ล่วงหน้าในหอประชุมอำเภอและวัดนาหูกวาง แต่หลังจากทางราชการยังไม่เบิกจ่ายงบจัดซื้อ จึงมีการร้องต่อศาลปกครองกระทั่งศาลสั่งให้ทางราชการชนะคดี แต่สินค้าทั้งหมดไม่ได้เคลื่อนย้ายออกไปจากสถานที่ราชการและวัด ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้นานเกือบ 10 ปี มีการล้อมรั้วลวดหนาม มีปิดประกาศเป็นเขตห้ามเข้า จากการตรวจสอบล่าสุด พบว่าบริษัทที่ขายสาร บีที ไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ตามหมายเลขที่ติดข้างขวดสาร บีที ขณะที่การจัดซื้อที่ อ.เมือง และ อ.ทับสะแก พบมี 2 บริษัทใช้ชื่อต่างกัน แต่มีฉลากสินค้าชนิดเดียวกัน มีที่ตั้งในสถานที่เดียวกัน “ จ่าเอกเสกสรรค์ กล่าว

จ่าเอกเสกสรรค์ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัด เร่งหาวิธีการกำจัดสารดังกล่าวเพื่อไม่ให้มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกับเมืองท่องเที่ยว ไม่ควรมีขยะพิษเก็บไว้ใจกลางเมือง หอประชุมอำเภอควรนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า ไม่ควรปล่อยให้เอกชนใช้เพื่อเก็บวัตถุอันตราย และจะต้องเรียกค่าใช้จ่ายในการสารพิษไปทำลายจากบริษัทที่นำสารบีทีมาเก็บไว้ แต่หลังจากนั้นยังไม่มีการกำหนดสถานที่เก็บวัตถุอันตราย

“ ขณะที่การตรวจสอบย้อนหลังในปีงบประมาณ 2553 -2554 พบว่ามีใช้เงินทดรองราชการจากการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ( ปภ.) จัดซื้อซื้อสารบีทีกว่า 193,577,000 บาท แจกจ่ายให้เกษตรกร แต่ไม่มีหน่วยงานใดให้การรับรองสินค้า ซึ่งจะต้องสอบถามรายละเอียดจากกรมวิชาการเกษตรว่าเหตุใดมาทักท้วงในเดือนสิงหมาคม 2555 “จ่าเอกเสกสรรค์ กล่าว และว่า จะสอบถามสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิที่ 12 จ.เพชรบุรี ภายหลังสอบข้อเท็จจริงในการจัดซื้อสารบีที ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 -2555 วงเงิน 193,577,000 บาท ว่ามีข้อสรุปหรือไม่ หลังจากผ่านไปหลายปี ทั้งนี้สำนักงานงบประมาณรอผลสรุปจาก สตง. โดยส่งเอกสารที่จังหวัดแจ้งจ่ายเงินทดรองราชการ กลับคืนให้สำนักงาน ปภ. จังหวัดเก็บเรื่องไว้จนกว่า สตง.จะแจ้งผลให้ทราบในประเด็นการสอบเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด ปกครองจังหวัดร่วมกันทำสัญญาซื้อขายสารบีที

////