แพทย์ รพ.ประจวบฯ ระบุ กัญชาไม่ใช่ยาวิเศษ มีทั้งคุณและโทษ หากใช้อย่างไม่ถูกต้องอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมเตือนระวังการใช้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน

แชร์ข่าวนี้

ภาพ – ข่าว สุรยุทธ ยงชัยยุทธ

10 มิ.ย.65 น.ส.วรรษา บุญจร  แพทย์แผนไทย ประจำคลินิกกัญชา รพ.ประจวบคีรีขันธ์  กล่าวว่า การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดถือเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม กัญชาไม่ใช่ยาวิเศษ มีทั้งคุณและโทษ หากใช้อย่างไม่ถูกต้องก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับไต ตับ โรคหัวใจ นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังในกลุ่มเด็กและเยาวชน สตรีมีครรภ์ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะทางจิตและอาจมีผลเชิงลบต่อสุขภาพ เด็กและเยาวชนมีโอกาสเสพติดกัญชามากกว่าผู้ใหญ่และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ระดับสติปัญญา  การคิดแบบมีเหตุผล และการยับยั้งชั่งใจทั้งขณะเสพ และหลังเสพ และต่อลูกในครรภ์ของมารดาที่ใช้ และกัญชายังเป็นเหตุที่ทำให้เกิดจิตเภทได้ หากเสพกัญชาในขณะขับขี่อาจทำให้เกิดอาการมึนเมาเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น ในระหว่างที่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ยังไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย จึงต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในการกัญชาให้เป็นไปในทางที่เหมาะสม โดยในทางการแพทย์ได้มีการใช้กัญชาในการรักษาทั้งการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน โดยแพทย์แผนไทยใช้น้ำมันกัญชาสูตรของ อ.เดชา  ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งเป็นตำรับยาหลักของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนแพทย์แผนปัจจุบันจะใช้สารสกัดจากกัญชา โดยแพทย์จะวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยและจ่ายยาให้ในขนาดโดสที่ต่ำที่สุดก่อนและติดตามอาการผู้ป่วยต่อเนื่องประมาณ 3 เดือน เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับการรักษา หรือหยุดการใช้เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ซึ่งผู้ป่วยที่มารับบริการที่คลินิกกัญชา ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเครียด ปวดมะเร็ง ซึ่งจะใช้กัญชาเพื่อบรรเทาอาการ โดยคลินิกกัญชา รพ.ประจวบฯ เปิดให้บริการในวันศุกร์สัปดาห์แรกของทุกเดือน ที่ชั้น 2 อาคารผู้ป่วยนอก ตั้งแต่เวลา 13.00 น.-15.00 น.สามารถเบิกค่ารักษาได้ตามสิทธิ์

ด้าน เภสัชกร อรรณพ หิรัญดิษฐ์ เภสัชกรชำนาญการ รพ.ประจวบคีรีขันธ์  กล่าวว่า การใช้กัญชาสำหรับการแพทย์แผนไทยจะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมาก ใช้ขนาดยาไม่มากเท่ากับการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยจะไม่ใช้กัญชาเป็นยาหลักแต่จะใช้เป็นยาเสริมการรักษา ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมกับแต่ละโรคและใช้ให้ถูกจังหวะจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด เพราะปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรฐานขนาดการใช้กัญชาสำหรับการรักษาแต่ละโรค แพทย์ที่จ่ายยาจึงต้องวินิจฉัยผู้ป่วยแต่ละรายและจ่ายยาให้ในปริมาณที่เหมาะสม และการใช้กัญชาในการรักษาทางการแพทย์จะไม่ใช้กับคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ส่วนประชาชนที่คิดจะปลูกกัญชาที่บ้าน อยากให้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน โดยสามารถนำส่วนต่างๆ ของกัญชามาปรุงประกอบอาหารได้ ทำให้อาหารมีรสชาติกลมกล่อม ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร แต่ไม่ควรที่จะใส่ในปริมาณที่มากเกินไป โดยเฉพาะส่วนของช่อดอกที่มีปริมาณ THC มากที่สุด จะทำให้เกิดอาการมึนเมา

////////////////////////////