นายอำเภอเมืองประจวบฯยอมรับมีคำสั่งศาลให้ย้ายสาร บีที ปลอมขยะพิษ 32.8 ล้าน ออกจากหอประชุมตั้งแต่ปี 2562

แชร์ข่าวนี้

ภาพ-ข่าว สุรยุทธ ยงชัยยุทธ

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม นายธนนท์ พรรพีภาส นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดติดตามตรวจสอบการจัดซื้อสารบีที หรือเชื้อแบคทีเรีย กำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ปัจจุบันมีการเก็บสารบีที มูลค่า 32.8 ล้านบาท ที่หอประชุมอำเภอเมือง และสารบีที มูลค่า 24.7 ล้านบาท ในอาคารใกล้เมรุร้าง วัดนาหูกวาง อ.ทับสะแก ซึ่งเก็บไว้นานถึง 10 ปี ในสภาพหมดอายุการใช้งานและอาจมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันยังไม่มีการนำไปบำบัดตามหลักวิชาการ หลังจากฝ่ายปกครองจัดซื้อเพื่อกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 แต่ถูกทักท้วงว่าเป็นสินค้าที่ไม่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรฯ ฝ่ายปกครองจึงไม่ลงนามซื้อขาย

นายธนนท์ กล่าวว่า สำหรับสาร บีทีที่เก็บไว้ในหอประชุมอำเภอ ที่ผ่านมาศาลประจวบคีรีขันธ์มีคำพิพากษาตั้งแต่ปี 2562 ให้เจ้าของบริษัทผู้ขายสินค้านำสารพิษไปทิ้ง ภายหลังคณะกรรมการแก้ปัญหาระดับจังหวัด แจ้งให้ปลัดอำเภอเมืองไปแจ้งความดำเนินคดี แต่หลังจากนั้นอาจจะไม่ได้ติดตามคดีให้ถึงที่สุด ล่าสุดอำเภอได้ขอคัดคำพิพากษา จากนั้นได้ประสานไปยังอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดว่า สารเคมีในบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดเป็นสารพิษอันตรายหรือไม่ ก่อนเคลื่อนย้ายไปทำลาย

มีรายงานว่า สำหรับสาร บีที มูลค่า 24.7 ล้านบาท ที่ซุกไว้ในเมรุร้าง วัดนาหูกวาง อ ทับสะแก ยังไม่ทราบแนวทางปฏิบัติจากอำเภอทับสะแก ขณะที่หลังจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า สาร บีที ทั้ง 2 แห่งเป็นวัตถุอันตรายประเภท 2 เป็นขยะพิษ จากการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 จากนั้นขอให้จังหวัดเร่งพิจารณาดำเนินการเคลื่อนย้ายโดยเร็ว แต่ขณะนี้สารเคมีดังกล่าวยังไม่ได้เคลื่อนย้ายออกไปบำบัดตามหลักวิชาการ

จากการตรวจสอบระหว่างปี 2553-2555 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ประกาศเขตพิบัติฉุกเฉินพื้นที่ระบาดแมลงศัตรูมะพร้าวต่อเนื่องหลายอำเภอ ใช้งบซื้อสาร บีที กว่า 180 ล้านบาท แต่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรไม่ได้ทักท้วง ก่อนนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกร สำหรับข้ออ้างว่ามีมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งให้การรับรองจากผลวิจัยการใช้สารบีที ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขณะนั้น ต้องยืนยันว่าการจัดซื้อ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ เหตุใดหลังกรมวิชาการเกษตรทักท้วง จึงยุติการจัดซื้อทันที สำหรับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ( ปภ.) ขณะนี้ยังมีปัญหากับสำนักงบประมาณกรณีใช้งบทดรองราชการจัดซื้อสารบีที 180 ล้านบาท เพราะหลังจากปี 2555 ปภ.ได้ประกาศยกเลิกการประกาศเขตภัยพิบัติจากศัตรูพืชทุกจังหวัดทั่วประเทศ

//////