สระบุรี-คืบหน้ากรณีข้อพิพาทเลี้ยงสุนัข 26 ตัวเห่าหอนเสียงดัง ได้ข้อสรุปทำรั้วให้มิดชิดและใส่ปลอกคอป้องกันการเห่า **ชาญวิทย์ คำนวณวุฒิ รายงาน**

แชร์ข่าวนี้

วันที่ 9 สิงหาคม 2566 จากกรณีที่ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจาก นายธีรศักดิ์ ตาละลักษณ์ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 29/1 หมู่ที่ 6 ต.เตาปูน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ว่าตนเองไม่รู้จะไปพึ่งใครได้แล้วขอให้สื่อช่วยเป็นกระบอกเสียง คือเป็นบ้านที่เจ้าหน้าที่ที่อยู่ใน อบต.แห่งหนึ่ง ในอำเภอแก่งคอย เลี้ยงสุนัขไว้มากถึง 26 ตัว เห่า หอน สร้างความเดือดร้อนจนกระทบกับชีวิตประจำวัน ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ เสียทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก และเคยได้บอกกล่าวคู่กรณีไปแล้ว แต่ถูกเพิกเฉยมาเป็นปีโดยไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งกลิ่นทั้งเสียง รบกวนเพื่อนบ้านมานานหลายปี ร้องเรียนไปแล้วหลายหน่วยงานก็ยังไม่มีการแก้ไข โดยเพื่อนบ้านรายนี้ ยังนำเรื่องไปร้องเรียนกับมูลนิธิแห่งหนึ่ง (วอชด๊อก) อ้างว่าการมากดดันให้เจ้าของสุนัข นำสุนัขออกจากบ้านที่เลี้ยงไว้ไปไว้ที่อื่น เท่ากับเป็นการบีบบังคับให้เจ้าของสุนัข ทำผิดกฎหมายมาตรา 23 ที่ระบุว่า “ปล่อยทิ้งสัตว์ให้พ้นภาระ แล้วยังอาจต้องโดนข้อหาทารุณกรรมสัตว์อีกด้วย เพราะเป็นการนำสัตว์ไปปล่อยทิ้งในที่ที่ไม่มีสวัสดิภาพสัตว์หรือไม่” ทำให้คนที่ไม่เข้าใจประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของเพื่อนบ้าน พากันเข้ามาคอมเมนต์เห็นด้วยกับเจ้าของสุนัขรายนี้เป็นจำนวนมาก

ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดย นายแก้ว ปานสีอาด นายก อบต.เตาปูน นางจันทนิภา งามบุศยโพยม เลขาฯนายก อบต.เตาปูน และนางสาวอัญธิญาน์  จริยะเมธารุจน์ หัวหน้าสำนักปลัด รักษาการปลัด อบต.เตาปูน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงว่า ทาง อบต.ได้ลงพื้นที่ดำเนินการแก้ไขมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ติดขัดตรงที่เจ้าของสุนัข ไม่ยอมให้เข้าไปจับ ซึ่งในข้อตกลงกันนั้นเจ้าของสุนัขยินยอมทุกอย่าง แต่ความเป็นจริงแล้ว เจ้าของสุนัขไม่ยินยอม โดยบอกว่าถ้าทาง อบต.ไปจับก็จะทำการถ่ายคลิปไว้ และแจ้งดำเนินคดีบุกรุก ว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์และไป ร้องเรียนไปยังมูลนิธิวอชด๊อก ซึ่งทางศูนย์ดำรงธรรมสระบุรี ยังโทรมาแจ้งยัง อบต.อีกว่าไม่สามารถที่จับหมาได้ เนื่องจากว่าเป็นการทารุณกรรม ผิดกฎหมาย จึงไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ ซึ่งขณะนี้ ทางอบต.เตาปูน ก็ได้ประสานไปยังสถานที่พักพิงสุนัขและแมวเทศบาลเมืองทับกวางไว้แล้ว แต่ทางสถานที่พักพิงฯแจ้งมาว่า การที่จะนำสุนัขไปให้ทางนี้นั้น จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู ต่อตัว ต่อวัน ประมาณ 30-35 บาท เนื่องจากว่าเป็นสุนัขที่มีเจ้าของ ไม่ใช่สุนัขจรจัดถึงจะไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งทางเจ้าของสุนัข ก็ไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าเลี้ยงดู โดยทาง อบต.เตาปูน พร้อมที่จะช่วยเหลือดำเนินการทุกอย่าง แต่ติดตรงที่ว่าทางเจ้าของหมา บอกยินยอม แต่พอทำเข้าจริง ก็ไม่ยอม และร้องไปยังมูลนิธิวอชด๊อก ให้เข้ามาช่วยเหลือ

หลังจากนั้นนายสมพร สุขศิลา เจ้าของหมาติดต่อขอความช่วยเหลือมายัง องค์การสวัสดิภาพสัตว์ เดอะ โฮป ไทยแลนด์ เพื่อให้เข้าช่วยเหลือ โดยขอให้ช่วยเจรจาหาแนวทางออก เนื่องจากไม่อยากพรากจากหมาที่รักตามคำสั่งของ อบต. ที่ให้ลดจำนวนหมาลง

ล่าสุด นายพีระบุญ เจริญวัย ประธานองค์การสวัสดิภาพสัตว์ เดอะ โฮป ไทยแลนด์ และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่บ้านของนายสมพร เจ้าของหมา และเชิญทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมาหารือและทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อยุติทุกความขัดแย้ง และอยู่ร่วมกันได้ทั้งคนกับคน  และคนกับสัตว์ โดยมีนายแก้ว ปานสีสอาด นายก อบต.เตาปูน  ปศอ.แก่งคอย นายธีรศักดิ์ ตาละลักษณ์ ผู้ร้องเรียน นายสพร สุขศิลา ผู้ถูกร้อง(เจ้าของหมา)

โดยได้ข้อสรุปจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญในส่วนของเสียงจริง หมามีจำนวนทั้งสิ้น 25 ตัว(เดิม 26 ตายไป 1) เป็นเพศเมีย 17 ตัว ทำหมันแล้ว และเพศผู้ 8 ตัว ยังไม่ทำหมัน เจ้าของหมาได้มีความพยายามแก้ไขเรื่องเสียง เช่นการสแลนขึงปิดรั้วด้านหน้า กับ ในช่วงกลางคืนจะแยกหมาเข้าห้องต่างๆ ในบ้าน   ปล่อยทิ้งด้านนอก(ในรั้วบ้าน) จำนวน 8 ตัว ซึ่งที่จริงแล้ว ยังมีแนวทางที่หากทำแล้วจะช่วยลดทอนปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญลงได้อีก ทางนายพีระบุญ เจริญวัย ประธานองค์การสวัสดิภาพสัตว์ เดอะ โฮป ไทยแลนด์ จึงได้อธิบายถึงแนวทางการแก้ปัญหาในส่วนที่ควรทำดังนี้

  1. ทำหมันหมาตัวผู้อีก 8 ตัวให้ครบถ้วนทั้งหมด เพราะการทำหมันนอกจากจะควบคุมปริมาณแล้วยังช่วยลดทอนพฤติกรรมเช่นการเห่าหรือความก้าวร้าวต่างๆลงโดยทางคุณหมอ ปศอ.จะให้ความอนุเคราะห์ในการทำหมันและวัคซีนสุนัขดังกล่าวทั้งหมด
  2. ปิดกั้นรั้วด้านนอกทั้งหมด ซึ่งเดิมทีใช้สแลนบางๆ ขึงเป็นบางส่วน ให้เปลี่ยนเป็นการใช้แผ่นเมทัลชีทปิดให้มิดชิด โดยทางเจ้าของสุนัขจะดำเนินการจัดหาเอง ซึ่งนายธีรศักดิ์ ตาละลักษณ์ ผู้ร้องก็จะร่วมช่วยหามาช่วยด้วย
  3. คัดแยกหมาที่ชอบเห่าหรือเป็นจ่าฝูงออกจากกัน เนื่องจากบ้านมีบริเวณและมีพื้นที่ในช่วงกลางคืนแนะนำให้เก็บสุนัขเข้าในบริเวณที่ปิดทั้งหมด เช่นในห้อง ( เดิมทีเจ้าของทำอยู่แล้วแต่ยังไม่ครบถ้วน)
  4. จัดซื้อปลอกคอกันเห่าใส่ให้ตัวที่ชอบเห่าเพื่อปรับพฤติกรรม ( หาซื้อได้ใน Lazada และทั่วไป) แต่เนื่องจากเจ้าของมีรายได้น้อย ตรงนี้ทาง The Hope จะช่วยจัดซื้อให้
  5. เจ้าของสุนัขต้องเป็น “จ่าฝูง”ของสุนัข เมื่อสุนัขเห่าต้องดุห้ามปรามอย่างจริงจังให้สุนัขเกรงกลัวและยอมรับ

ส่วนในเรื่องของการกำหนดเป็นข้อบังคับให้ลดจำนวน หรือนำสุนัขออกนอกพื้นที่จึงเป็นเรื่องที่พูดได้แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ที่สำคัญหากปลายทางของสุนัขไม่ดี ก็จะเป็นการกระทำความผิด ม.20 ในส่วนของพระราชบัญญัติการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ด้วย

โดยสรุปว่าผู้ร้องเรียนยินดีที่จะถอยคนละก้าว และขอให้ฝ่ายเจ้าของสุนัขแสดงเจตนาในการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน ซึ่งเจ้าของสุนัขก็ยินดีและพร้อมจะปฏิบัติตามข้อตกลง ตามกรอบระยะเวลาในการแสดงเจตนาแก้ไข 15 วันนับจากวันนี้เป็นต้นไป โดยหากไม่ได้มีการแก้ไขใดๆ ทาง อบต. จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 25 พระราชบัญญัติการสาธารณสุขและการรักษาความสะอาดต่อไป

/////////////////////////////////////////////////

ชาญวิทย์ คำนวณวุฒิ รายงาน