สระแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มอบหนังสือรับรอง “หมอพื้นบ้าน” จำนวน 25 ราย

แชร์ข่าวนี้

 

สระแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มอบหนังสือรับรอง “หมอพื้นบ้าน” จำนวน 25 ราย

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 นพ.ธราพงษ์ กัปโก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว มอบหมายให้นางลอองจันทร์ คำภิรานนท์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานประชุมและมอบหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน ประจำปี 2566 จำนวน 25 คน  โดยนายธีระ  แสงสุรเดช หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมสิรินธร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว

นางลอองจันทร์ คำภิรานนท์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า “หมอพื้นบ้าน” เป็นผู้ที่มีบทบาทในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนในชนบทมาตั้งแต่อดีต  โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสม สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ รักษาโรคด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งใช้สมุนไพร ใช้คาถา เป็นศาสตร์ในการดูแลสุขภาพที่อาศัยความเชื่อความศรัทธา  และใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลัก มีการรักษาทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นเรื่องของบุญคุณ โดยไม่ได้เรียกร้องค่าตอบแทน

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 กำหนดให้หมอพื้นบ้าน ซึ่งมีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตามวัฒนธรรมของชุมชนที่สืบทอดกันมานานไม่น้อยกว่าสิบปี สามารถประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้ โดยจะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยจะต้องผ่านการพิจารณาและให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการหมอพื้นบ้านระดับจังหวัด

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า สำหรับจังหวัดสระแก้ว มีนายเชาวเนตร ยิ้มประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานคณะกรรมการหมอพื้นบ้าน ได้ประชุมเพื่อพิจารณาหมอพื้นบ้าน ประจำปี 2566 ไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566  โดยมีหมอพื้นบ้านขอขึ้นทะเบียนรับรองผ่านอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จาก 4 อำเภอ จำนวน 25 คน ได้แก่ อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอโคกสูง และอำเภอวังสมบูรณ์ ซึ่งหมอพื้นบ้านได้ผ่านการพิจารณาทั้งหมด ทำให้ปัจจุบันจังหวัดสระแก้ว มีหมอพื้นบ้านที่ผ่านการรับรองแล้ว รวมทั้งสิ้น 44 ราย แยกเป็น ปี 2565 จำนวน 19 ราย และปี 2566 จำนวน 25 ราย ถ้าแยกประเภทส่วนใหญ่จะเป็นหมอพิธีกรรม หมอยาสมุนไพร หมอกระดูก หมอนวดพื้นบ้าน หมอรักษาสัตว์มีพิษกัน งูกัด และหมอตำแย ซึ่งหมอพื้นบ้านแต่ละคนอาจมีความชำนาญมากกว่า 1 ประเภท

“สำหรับหนังสือรับรองที่ได้รับมอบในครั้งนี้ เป็นการเชิดชูเกียรติคุณงามความดีของหมอพื้นบ้าน , คุ้มครอง อนุรักษ์ ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทยในการดูแลสุขภาพตามวิถีวัฒนธรรมของชุมชน  , เพื่อส่งเสริมและพัฒนา การรับรองสถานภาพทางกฎหมายและทางสังคมของหมอพื้นบ้าน และส่งเสริม สนับสนุน การใช้ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทยให้มีบทบาทในการบริการ ทั้งในสถานพยาบาล และระบบสุขภาพชุมชน” นางลอองจันทร์ คำภิรานนท์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าว

**  ภาพข่าว.รพ.สระแก้ว / นายสุพจน์บดินทร์ (จัด)กุ่มประสิทธิ์ รายงานข่าว