กรมเจรจาฯ”นำทัพตะลุยสหกรณ์โคนมห้วยสัตว์ใหญ่และสวนทุเรียนป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์ เร่งส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการใช้ FTA เตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดการค้าเสรี และรองรับการเปิดเสรีสินค้านม

แชร์ข่าวนี้

 

กรมเจรจาฯ”นำทัพตะลุยสหกรณ์โคนมห้วยสัตว์ใหญ่และสวนทุเรียนป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์ เร่งส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการใช้ FTA เตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดการค้าเสรี และรองรับการเปิดเสรีสินค้านม

กรมเจรจาฯ ลงพื้นที่ห้วยสัตว์ใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบปะหารือสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ และผู้ประกอบการทุเรียนหมอนทอง ป่าละอู มุ่งส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเร่งใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายตลาดส่งออก สร้างแต้มต่อทางการค้าและเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดการค้าเสรี พร้อมรับการเปิดเสรีสินค้านมและผลิตภัณฑ์

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชน ลงพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการใช้ FTA เป็นเครื่องมือสร้างแต้มต่อทางการค้าขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ และใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีที่กำลังจะเกิดขึ้น ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2567 ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ซึ่งเป็นการทำงานภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อสร้างความตะหนักรู้เกี่ยวกับการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี และภารกิจกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยได้ลงพื้นที่พบหารือเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์พร้อมเยี่ยมชมกระบวนการผลิตนมอัดเม็ดและนมพาสเจอร์ไรส์ ณ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด

ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเครือข่ายของกรม ที่เข้าร่วมโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน ที่กรมได้ติดอาวุธความรู้เรื่องความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA การค้าระหว่างประเทศ กลยุทธ์การทำตลาดแบบออนไลน์และออฟไลน์ การเขียนแผนธุรกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

นางสาวโชติมา กล่าวว่า สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด ที่กรมได้ลงพื้นที่พบปะหารือและเยี่ยมชมกระบวนการผลิตและแปรรูปในครั้งนี้เป็น 1 ในสหกรณ์ตามโครงการพระราชดำริ ที่กรมให้การสนับสนุน นอกเหนือจากสหกรณ์โคนมวาริชภูมิสกลนคร สหกรณ์โคนมพัทลุง และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ศ.ค.)

สหกรณ์แห่งนี้มีศูนย์รับน้ำนมดิบทั้งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี สามารถรวบรวมน้ำนมดิบได้ 18 ตันต่อวันจากโคนมของสมาชิกทั้งหมด 3,247 ตัว และบริการตรวจคุณภาพน้ำนม รวมทั้งเป็นสหกรณ์ที่มีเครื่อง Spray Dryer 1 ใน 3 ของประเทศ ที่ใช้น้ำนมดิบของเกษตรกรในพื้นที่มาผลิตเป็นนมผงและนมอัดเม็ด มีศักยภาพในการผลิต 1 ตันต่อวัน

อีกทั้งสหกรณ์ยังมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ให้กับสมาชิก ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงโคนม สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกและประชาชนในชุมชน นอกจากนี้ กรมยังได้ลงพื้นที่ ควาลิตี้ไทม์ฟาร์มสเตย์ เป็นแหล่งปลูกทุเรียนหลายสายพันธุ์ อาทิ หมอนทอง พวงมณี เป็นต้น โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทอง ป่าละอูที่ได้ขึ้นทะเบียนสินค้า G และมีเอกลักษณ์โดดเด่นคือ มีรสหวาน เนื้อหนาเนียนละเอียด สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งมีความมันมากกว่าความหวาน กลิ่นไม่รุนแรง ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของคนไทยและชาวต่างชาติ

นางสาวโชติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า FTA ไทย – ออสเตรเลีย และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2548 และไทยผูกพันเปิดเสรีสำหรับสินค้านมและผลิตภัณฑ์ให้กับประเทศคู่ค้า 2 ประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2548 ที่ผ่านมา เกษตรกร สหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการนมโคแปรรูปได้เตรียมตัวเข้าสู่ตลาดการค้าเสรี อีกทั้งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร สหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการนมโคแปรรูป ใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นเครื่องมือขยายตลาดส่งออก และรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดการเปิดการค้าเสรี

ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2561 กรมได้ดำเนินโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” เร่งผู้ประกอบการใช้ FTA และเข้าถึงโอกาสทางการค้าในตลาดประเทศคู่ FTA ทั้งจีน สิงคโปร์ และกัมพูชา โดยกรมจัดโครงการโคนมอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2567 เป็นระยะเวลากว่า 6 ปี ซึ่งการดำเนินโครงการได้รับผลตอบรับที่ดีและประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เป็นโครงการต้นแบบที่กรมพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการได้ยกระดับการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐาน และใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่า เช่น นมอัดเม็ดเสริมโปรไบโอติกส์ป้องกันฟันผุ นมอัดเม็ดพลัสแคลเซียม นมพาสเจอร์ไรส์ช่วยให้หลับง่าย นม UHT แลกโตสฟรี เป็นต้น

และการทำธุรกิจนมโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เช่น ออร์แกนิกโยเกิร์ตแดรี่โฮมและนม UHT mMik มีมูลค่าส่งออกนมโคแปรรูปภายใต้โครงการกว่า 300 ล้านบาท และพัฒนาผู้ประกอบการเป็นผู้ส่งออกที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561- 2580) ดังนั้น กรมมั่นใจว่าจากการเตรียมตัวรองรับการเปิดเสรีทางการค้าสำหรับสินค้านมและผลิตภัณฑ์ตลอด 20 ปีและการจัดโครงการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการกว่า 6 ปีที่ผ่านมา วันนี้เกษตรกร สหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการพร้อมใช้ประโยชน์จาก FTA และเข้าสู่ตลาดการค้าเสรี นมแบรนด์ไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก นางสาวโชติมา กล่าวทิ้งท้าย

** สมบัติ ผลกิจ รายงาน