จ่อแจ้งเพิ่มข้อหาละเว้นหน่วยงานรัฐ หลังรอง ผวจ.นำทีมเจ้าหน้าที่ดูท่อปล่อยน้ำเสียจากชุมชนไหลลงหาดแลนด์มาร์คท่องเที่ยวชื่อดังเมืองประจวบฯ

แชร์ข่าวนี้

ภาพ-ข่าว สุรยุทธ ยงชัยยุทธ

เมื่อเวลา 12.05  น. วันที่  22  มิถุนายน นายคมกฤช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  พร้อมด้วยนายอภิสิทธิ์ คำภิโร หัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3  ปลัดเทศบาลเมืองประจวบฯ  เจ้าหน้าที่จากสำนักองค์การจัดการน้ำเสีย( อจน.) เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.จ.)   ลงพื้นที่ชายหาด หน้าอ่าวประจวบฯ ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ ภายหลังสื่อมวลชนนำเสนอภาพข่าวน้ำจากชุมชนไหลลงชายหาด กว่า 30 จุด ตั้งแต่หน้ากองบิน 5 ถึงสะพานสราญวิถีในแหล่งท่องเที่ยวใจกลางเมืองที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะในจุดที่มีปลายท่อใกล้ร้านอาหารเพลินสมุทร  เครือญาติของนายกเทศมนตรีเมืองประจวบฯ โดยน้ำจากชุมชนไม่ได้ไหลผ่านท่อ เพื่อผ่านระบบบำบัดน้ำเสียที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ใช้งบสร้าง 400 กว่าล้านบาท ด้านหลังวัดธรรมิการามฯ

ต่อมา นายคมกฤช  ให้สัมภาษณ์  หลังจากเห็นสภาพน้ำทิ้งจากชุมชนไหลจากท่อลงชายหาด ว่า การแก้ปัญหาในระยะยาวเป็นหน้าที่ของเทศบาลและ อนจ. ส่วนระยะสั้น 2 หน่วยงานนี้ต้องเร่งดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปล่อยน้ำทิ้งลงชายหาดถือเป็นการกระทำความผิดโดยซึ่งหน้าตาม พรบ.การเดินเรือในน่านไทย  2456  มาตรา 119 ทวิ ในฐานะที่กำกับดูแล ได้ดำเนินการอย่างไร นายคมกฤช กล่าวว่า  การพิจารณาข้อกฎหมายต้องดูในหลายองค์ประกอบ  การปฏิบัติหน้าที่มีเจตนาว่าละเว้นหรือไม่ เมื่อดูพื้นที่แล้วยังไม่ได้สอบสวนผู้เกี่ยวข้อง ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่ามีความผิดอย่างไร เมื่อมาดูพื้นที่แล้วยอมรับว่าน้ำเสียออกมาจริง ซึ่งกระบวนการของระบบอาจจะชำรุด จากนั้นจะต้องค้นหาสิ่งที่ชำรุดแล้วแก้ไขปัญหาโดยด่วน

ด้าน จ.อ.เสกสรรค์ จันทร  คณะทำงานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น  (คปต.) จ.ประจวบคีรีขันธ์  พร้อมทีมทนายความด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม   นำเอกสารหลักฐานจากการลงพื้นที่ของรองผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าแจ้งลงบันทึกประจำวันกับพนักงานสอบสวน  สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์  เพื่อใช้แจ้งเป็นหลักฐานดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องต่อเนื่องหากมีการตรวจสอบพบว่า หลังจากนั้นยังมีการปล่อยน้ำจากขุมชนลงชายหาดตามปกติ   หลังจากเมื่อวันที่ 20  มิถุนายน 2565 ได้แจ้งความดำเนินคดีหัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 และพวก ฐานเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดำเนินการตามมาตรา 119 และ มาตรา 119 ทวิ   พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456  มีโทษทั้งจำและปรับ   มีการชดใช้ค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิด จากนั้นยื่นร้องศาลปกครองมีคำสั่งให้เทศบาลปิดท่อน้ำทิ้ง และเรียกค่าเสียหายที่มีผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม

จ.อ.เสกสรรค์ กล่าวว่า   จากการติดตามการลงพื้นที่ของรองผู้ว่าราชการจังหวัด  ซึ่งเห็นการกระทำความผิดโดยซึ่งหน้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้น หากยังมีการประวิงเวลา หรืออ้างว่าจะต้องประชุมหารือ  คณะทำงานจะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป  เพื่อให้มีการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาผลกกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันยังมีน้ำจากชุมชนไหลลงชายหาดต่อเนื่องนานหลายสิบปี  ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาจะต้องมีการปิดถนนเลียบชายหาดตลอดแนว  เพื่อสำรวจแนวท่อบำบัดน้ำเสียซึ่งปัจจุบันเทศบาล และ อจน.ไม่มีแบบแปลนท่อน้ำเสียเดิม  เนื่องจากทราบว่าสูญหาย  ดังนั้นการสำรวจจึงต้องมีการปิดถนนชั่วคราว ซึ่งในอนาคตจะมีประโยชน์กับประชาชน มากกว่าการปิดถนนในเมืองประจวบฯเพื่อให้เอกชนแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ

ด้านทีมทนายความของคณะทำงาน  ระบุว่า จะติดตามการใช้งบประมาณจำนวน 7 แสนบาท ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ สำหรับใช้เป็นค่าจ้างในการศึกษา เพื่อทำโครงการบำบัดน้ำเสียบนนถนนเลียบชายหาด 17 ล้านบาท  จากเงินจ่ายขาดสะสม  เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่ามีการนำเงิน 7 แสนบาท ไปใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์  โดยฝ่ายบริหารไม่ได้แจ้งเหตุผลกรณีจะยุติหรือชะลอการทำโครงการ 17 ล้านบาท แจ้งให้สภาเทศบาลรับทราบ  จากนั้นมีผู้ร้องเรียนว่ามีการนำเงิน 7 แสนบาทไปใช้จ่ายในการทำ รพ.สนามในเรือนจำและศูนย์ฝึกสมานมิตร ซึ่งอาจจะผิดวัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรท้องถิ่น

/////////////////////////////////////////////