สระบุรี ส่อแล้งชาวนา อ.หนองโดน จัดระเบียบการสูบน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวกว่า 2หมื่นไร่** ชาญวิทย์ คำนวนวุฒิ รายงาน

แชร์ข่าวนี้

 

สระบุรี ส่อแล้งชาวนา อ.หนองโดน จัดระเบียบการสูบน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวกว่า 2หมื่นไร่

วันที่ 5 มกราคม 2567 ที่หอประชุมอาคารอเนกประสงค์ที่ว่าการอำเภอหนองโดน จ.สระบุรี  ชาวนากว่า 500 คน ร่วมประชุมหาข้อตกลงในการจัดสรรแบ่งน้ำใช้ในการทำนาเนื่องจากในพื้นที่อำเภอหนองโดนกำลังประสบปัญหาเรื่องน้ำในการทำการเกษตรประเภทนาปังซึ่งในอำเภอหนองโดนส่วนใหญ่ประชาชนจะมีอาชีพทำนา 100% ขณะนี้ชาวเริ่มขาดแคลนน้ำในการทำนาแล้ว

โดยมีผู้นำท้องถิ่นร่วมแสดงความคิดเห็นและเป็นตัวแทนแต่ละหมู่บ้าน จากการสอบถามผู้นำท้องถิ่นแจ้งว่าถ้าไม่จัดตารางคิวสูบน้ำเข้าแปลงนาแล้วจะเกิดปัญหาเรื่องการแย่งกันสูบน้ำทำให้น้ำที่มีเหลืออยู่น้อยจะไม่เพียงพอกับการหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังเพาะปลูก ในพื้นที่อำเภอหนองโดนจะรับน้ำมาจากคลองชลประทานชัยนาท-ป่าสัก โดยทราบว่าพื้นที่อำเภอหนองโดนได้เป็นพื้นที่รับน้ำเพื่อไม่ให้น้ำเข้าไปท่วมในแหล่งเศรษฐกิจ

ทางด้านนายอดุลย์ เปรมปราคินอา อายุ 55 ปีชาวนา อ.หนองโดน เผยว่า วันนี้เกษตรกรที่มารวมตัวกัน เนื่องจากว่าต้องการจัดสรรปันส่วน แบ่งโซน แต่ละโซน ว่าจะได้กันโซนละกี่วัน ในการสูบน้ำเข้านา เพื่อที่จะได้ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน โดยการแบ่งกันก็จะได้ข้อยุติที่ แบ่งกันโซนละ 5 วัน 10 วัน แล้วแต่โซนที่มีพื้นที่มากน้อยต่างกัน เนื่องจากใน ต.ดอนทอง มีพื้นที่ หมื่นกว่าไร่ และตำบลข้างเคียงอีก ไม่ว่าจะเป็น ต.หนองโดน ต.บ้านกลับ ก็จะใช้น้ำ 3 เส้นทางด้วยกัน เพราะน้ำที่ได้มาจะต้องใช้ทำนา และประปาหมู่บ้านด้วย ปัญหาคือพอน้ำแห้ง ประปาหมู่บ้านก็จะไม่มีน้ำใช้ จึงเกรงว่าจะทำให้ชาวบ้านมาทะเลาะกัน จึงได้มีการประชุมจัดสรรปันส่วนน้ำขึ้น โดยได้ตกลงหาข้อสรุปกัน คือการแบ่งสันปันส่วนกันได้ลงตัวขึ้น ซึ่งในวันนี้ก็ได้ข้อยุติที่ดี

 

โดยชาวบ้านแต่ละตำบลก็พ

อใจในการได้สูบน้ำใช้ ตำบลละกี่วัน โดยแบ่งออกเป็น 3 โซน จะมีโซนคลองบ้านกลับ โซนหนองโดน ดอนทอง และโซนมาจาก อสังโค ส่วนน้ำที่จะนำมาทำการเกษตรนั้น ก็จะขึ้นอยู่ที่ทางภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยบริหาร ส่วนเกษตรกรถ้าไม่ได้ทำนา จะไปทำอะไรกัน ก็ต้องทำนา โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าปีน้ำน้ำจะไม่สมบูรณ์เหมือนทุกปีที่ผ่านมา น้ำจะน้อย ซึ่งพื้นที่ที่นี่เป็นพื้นที่สีเขียว เกษตรกรทำนาโดยอาชีพ ส่วนเรื่องน้ำที่จะพอหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวแล้วยังมั่นใจทางภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ส่วนต้นทุนในการทำนาตอนนี้สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ย แพงมาก ยาก็แพง พันธุ์ข้าว กระสอบหนึ่ง 2 ถังครึ่ง ตกราคาอยู่ที่ 500 กว่าบาท แต่ชาวนาขายได้ถังละ 100 บาทถังละ 80 บาทบ้าง ตอนนี้ปุ๋ยก็แพงขึ้นอีก แต่ถ้าข้าวได้ราคาอยู่ในระดับนี้ชาวนาก็ยังจะพออยู่ได้ ซึ่งตอนนี้ทางภาครัฐยังให้ค่าเก็บเกี่ยวอยู่ที่ไร่ละ 1,000 บาท ยังพอจะมาหักลดต้นทุนได้บ้าง ยังพอมีเงินมาซื้อพันธุ์ข้าว จ้างรถตีข้าวบ้าง แต่ถ้าจะให้ลดต้นทุนขึ้นอีกก็เห็นจะเป็นเรื่องน้ำมัน เชื้อเพลิงที่จะต้องนำมาสูบน้ำเข้านา

ทางด้านนายพรเทพ ราชวัตร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนทอง  อ.หนองโดน เผยว่าตอนนี้ ต.ดอนทอง เกิดภาวะแห้งแล้ง เนื่องจากที่ผ่านมาช่วงเดือน ตุลาคม ต.ดอนทองประสบปัญหาน้ำท่วม และน้ำเพิ่งมาแห้งลงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็ทำให้ประสบปัญหาภัยแล้งต่อขึ้นอีก พอจะลืมตาอ้าปากด้วยการทำนา เนื่องจากพื้นที่ที่นี่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 100 เปอร์เซ็นต์ จะมีการทำนาอยู่เกือบ 2 หมื่นไร่ ทางเราเพิ่งวิดน้ำออกจากนาเพื่อทำนารอบนี้ เนื่องจากได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วมมา พอวิดน้ำออก และเริ่มทำนา ก็มาเกิดปัญหาน้ำแห้งคลอง วันนี้จึงได้ขออนุญาตทาง ชลประทาน โดยการนำเอาหินเขื่อนมาลงเพื่อกักเก็บน้ำ และมีการประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านและมีข้อตกลงกันที่ว่าการอำเภอ

โดยได้เรียกผู้ใช้น้ำ มาตกลงกันในการใช้น้ำ โดยจะมีการปล่อยน้ำออกมาสู่ลำคลอง ที่ทุ่งดอนทอง จึงได้นำหินเขื่อนมาลงเพื่อกักเก็บน้ำไว้เนื่องจากประตูน้ำมีการรั่วไหล ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ซึ่งน้ำจะไหลมาจากบ้านกลับ ซึ่งไม่เกิน 2-3 วันน้ำก็จะมาถึง ต.ดอนทอง โดยจะเอาหินเขื่อนไปลงปิดรอยรั่วอีกประมาณ 2-3 จุด ซึ่ง ต.ดอนทอง จะเกิดปัญหาภัยแล้งที่ซ้ำซากมาก มาหลายปีแล้ว คือ ต.ดอนทองจะเกิดทั้งภัยแล้ง คือน้ำแห้งก็แล้งเลย เนื่องจากไม่มีทุ่งกักเก็บน้ำ เกษตรกรที่นี่ก็จะทำนาด้วยความยากลำบาก ต้องสูบน้ำเข้าทำนา ต้นทุนก็สูง ช่วงนี้ราคาข้าวแพง ชลประทานก็พยายามประชาสัมพันธ์ให้เราหยุดทำนา แต่ทางเราก็ไม่มีอาชีพอื่นที่จะทำ ซึ่งที่ผ่านมาวินัยในการสูบน้ำเข้านาของแต่ละตำบลไม่เท่ากัน ทางต้นน้ำก็จะแย่งน้ำจนหมด พอจะมาถึง ต.ดอนทอง ในวันนี้จึงได้เข้ามาทำข้อตกลงในการสูบน้ำเข้านาของแต่ละตำบล คนละ 5 วัน

** ชาญวิทย์ คำนวนวุฒิ รายงาน