ศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม” ลัดฟ้า นำผลงานชนะเลิศ ประกวดทัศนศิลป์ สาขาจิตรกรรม เพื่อรณรงค์เนื่องใน “วันดินโลก” ร่วมจัดแสดงเผยแพร่สู่สาธารณชน ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี
“ศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม” หนึ่งในโครงการรณรงค์เนื่องใน “วันดินโลก” เพื่อส่งเสริม เชิดชู เรียนรู้ ให้คนเห็นความสำคัญของแผ่นดิน จากความร่วมมือระหว่างศิลป์พิพัฒน์ ศูนย์ส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญา ภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิดั่งพ่อสอน และวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ผ่านการขับเคลื่อน โดยกลุ่มผู้ประกอบการนักธุรกิจจิตอาสาจากสามแบรนด์ดัง P’Liv, RaMoNa และ Thaiillus นำผลงานชนะเลิศประกวดทัศนศิลป์ในงานวันดินโลก ร่วมจัดแสดงระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของแผ่นดิน โดยใช้ “ศิลปะ” ในการขับเคลื่อน ผ่านการเรียนรู้ ใน 4 หัวข้อหลัก ทั้งศาสตร์พระราชา ศิลปวัฒนธรรม ดินและการเกษตร และคุณค่าความเป็นไทย
วรัสชญาน์ จรัสธรรมภัสร์ ผู้ประกอบการจิตอาสาจากแบรนด์ P’Liv ประธานโครงการศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม โดยมูลนิธิดั่งพ่อสอน เปิดเผยถึงกิจกรรมครั้งนี้ว่า โครงการศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม ได้ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน สมาคมวันดินโลก และภาคีเครือข่าย นำผลงานที่ชนะเลิศการประกวดทัศนศิลป์ประจำปี 2566 ไปร่วมจัดแสดงผลงานในพื้นที่นิทรรศการ Side Event ของการประชุมประจำปี Global Soil Partnership Plenary Assembly ณ สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา และได้มอบภาพจำลองผลงานศิลปะของผู้ประกวดชนะเลิศ ในปี 2566 จำนวน 3 ภาพ ให้แก่ นายพุทธพร อิ้วตกส้าน เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอิตาลี ได้นำเผยแพร่สู่สาธารณชนในวงกว้างต่อไป
การจัดแสดงนิทรรศการผลงานครั้งนี้ได้เน้นสาระสำคัญในการเผยแพร่ผลงานโครงการฯ ปี 2566เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และ วัตถุประสงค์ในกิจกรรมหลัก 3 ส่วน ได้แก่
- ส่งเสริม : กิจกรรม “ประกวดผลงานทัศนศิลป์ สาขาจิตรกรรม” ในระดับมัธยม อุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของ “แผ่นดินไทย” โดยศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง และสร้างสรรค์ถ่ายทอดออกมาผ่านผลงานศิลปะ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะชน ในวงกว้าง
- เรียนรู้ : กิจกรรม “ชั่วโมงศาสตร์ศิลป์” เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชา ผ่านการสอนศิลปะ ในกลุ่มเด็กระดับประถม เพื่อปลูกจิตสำนึก สร้างความรับรู้ข้อมูลเบื้องต้น และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาสร้างสรรค์ผลงานในชั่วโมงศิลปะ
- เชิดชู : มอบ “รางวัลฐิติภูมิ” ที่มีความหมายว่า ความยั่งยืนของแผ่นดิน โดยมอบให้แก่ปราชญ์ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ ที่มีผลงานเกี่ยวกับดิน และการเกษตรจนเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ เพื่อเป็นกำลังใจ และสร้างบุคคลต้นแบบ
“ในการไปจัดแสดงผลงานครั้งนี้ ทางโครงการฯ ยังได้เชิญชวนให้ผู้มาร่วมการประชุมจากหลากหลายประเทศ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ผ่านการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อแสดงเจตนารมณ์เป็นเครื่องหมายจารึกไว้ว่า ทุกคนจะร่วมเดินทางพลิกฟื้นดินโลก และดูแลผืนดินนี้ไปด้วยกัน ซึ่งแต่ละคนก็ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่น่าประทับใจมาก และกิจกรรมนี้ก็ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติภายในงานเป็นอย่างมาก” ประธานโครงการศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม กล่าว
หนึ่งในผลงานศิลปะที่จัดแสดงครั้งนี้ยังมีผลงานที่ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ได้ให้ความกรุณาเริ่มจรดพู่กัน รังสรรค์ภาพตั้งต้นกำเนิดจากประเทศไทย โดยให้แนวความคิดที่ลึกซึ้งแต่ชัดเจน ไว้ว่า “ภาพดินโลก” คือ กำเนิดเกิดจาก “เลข ๙ ” หมายถึง รัชกาลที่เก้า “หยั่ง ๓ ราก” ลงสู่พื้นโลก หมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แตกยอด “ใบไม้ 5 ใบ” หมายถึง ศีล 5 และ มี “ดวงดาว 4 ดวง” หมายถึง แสงแห่งพรหมวิหารสี่ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะทำให้โลกนี้มีสันติภาพนิรันดร ซึ่งสอดคล้องกับงานแนวคิดหลัก “ The Journey to Success from Dirt to Living Soil ” ของทางสมาคมดินโลก โดยทางโครงการฯ ได้จัดทำ Postcard รูปผลงานที่ชนะการประกวดของเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป มอบให้เป็นของที่ระลึกแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วย
โครงการ “ศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม” ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกับทั้ง 3 กิจกรรม ได้แก่ สมัครประกวดผลงานทัศนศิลป์ สาขาจิตรกรรม ร่วมกิจกรรมสอนศิลปะ และสมัครเข้าคัดเลือกรับรางวัลฐิติภูมิ “ปราชญ์ของแผ่นดิน” โดยสามารถติดต่อ และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.09 6451 7993 หรือ Line OA : sartsilpdinsiam หรือ Email: plussilpipat@gmail.com พร้อมติดตามความเคลื่อนไหวโครงการ ศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม ได้ที่ Facebook : sartsilpdinsiam ดูรายละเอียดโครงการเพิ่มเติม และ ชมภาพชนะการประกวดทั้งหมดได้ที่ https://sssl.my.canva.site/sartsilpdinsiam หรือ https://www.facebook.com/sartsilpdinsiam/
** คณาโชค ตามจิตเจริญ รายงาน