พอช.จัดเวทีการมีส่วนร่วมภาคประชาชน-สภาองค์กรชุมชนในการต่อต้านทุจริต **บุญมา ลิบลับ รายงาน**

แชร์ข่าวนี้

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 11 มีนาคม 2565 ที่ห้องประชุมศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ( ปภ.) เขต 4 อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำสภาองค์กรชุมชนในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการต่อต้านการทุจริต จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชน จ.ประจวบฯ กล่าวรายงาน มี นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. น.ส.ปภรดา เขียวประดิษฐ์ ผอ.กลุ่มงานป้องกันการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 7 นายเสมา วนะสิทธิ์ ประธานโค้ชชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต จ.ประจวบฯ นายทวีศักดิ์ จุลเนียม ประธานคณะทำงานศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริตฯจ.ประจวบฯ ผู้นำ/ตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล จำนวน 24 ตำบล ในทั้ง 8 อำเภอของ จ.ประจวบฯ ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน จ.สระบุรี เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนจ.ประจวบฯ เข้าร่วม

ด้านนายวัชรินทร์ จันทร์เดช ประธานคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชน จ.ประจวบฯ กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ในการเห็นชอบร่างแผนการปฏิรูปประเทศ(ฉบับปรับปรุง) โดยมอบหมายให้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ให้เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของกิจกรรม BIG ROCK ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.)

ทั้งนี้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็น 1 ใน 17 จังหวัด เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (Big Rock) โดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการต่อต้านการทุจริตในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีพื้นที่ในการขับเคลื่อนงานโดยใช้ชุมชนเป็นแกนหลัก ผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบล จำนวน 8 อำเภอ 24 ตำบล โดยมีเป้าหมายเพื่อ

1.สร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ให้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการป้องกันและต่อต้านการทุจริต

2.สร้างระบบพื้นที่เปิดเผยและโปร่งใสให้ประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบและแสดงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการการใช้งบประมาณ

3.สร้างธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการที่ดีของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน

4.การปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตที่เกิดขึ้นในพื้นที่เน้นบทบาทการเฝ้าระวัง ป้องกัน และต่อต้านการทุจริต

การจัดเวทีในวันนี้ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ “การสร้างสังคมสุจริต และต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ”

นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของภาคประชาชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลผ่านหน่วยงานต่างๆ เป็นงบประมาณของแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนทุกคน ทั้งยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ให้มีสำนึกพลเมือง เพื่อสร้างสังคมสุจริต และต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ

จะเห็นได้ว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็น 1 ใน 17 จังหวัด ที่มีการขับเคลื่อนกิจกรรมตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (Big Rock) ในปี พ.ศ.2565 โดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีพื้นที่ในการขับเคลื่อนงานโดยใช้ชุมชนเป็นแกนหลัก ผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบล จำนวน 8 อำเภอ 24 ตำบล

ด้าน นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษาสถาบัน พอช. กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต เป็นเรื่องที่มีสำคัญมากที่อยากให้พี่น้องชาวประจวบฯ ได้เข้าใจว่า เป็นช่องทางที่สำคัญที่จะทำให้ประชาชนมารวมตัวกัน และเป็นแกนหลักในการที่จะเฝ้าระวังผลประโยชน์อันชอบธรรมของเราในพื้นที่ ที่จะทำให้คอยดูแลการทุจริตในพื้นที่ตำบล และจังหวัด ทำอย่างไรที่จะทำให้การทุจริตลดน้อยถอยลง ประชาชนมีจิตสำนึกที่ดี รู้สึกไม่ยอมทนต่อการทุจริต สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ตื่นตัวได้อย่างไร และทาง พอช.จะสร้างระบบคนในพื้นที่ให้เปิดเผยโปร่งใส ทุกคนจะได้รู้ว่างบประมาณเข้ามาอย่างไร โครงการเข้ามาตรงไหน อย่างไร  และเป็นประโยชน์กับเราหรือไม่ มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งมีใครทุจริตหรือไม่อย่างไรบ้าง นอกจากนี้องค์กรของเราเองจะต้องมีการทำงานที่สุจริตเปิดเผยโปร่งใส และถ้ามีการทุจริตในพื้นที่ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสข้อมูลการทุจริต แต่ก็ต้องระวังความปลอดภัยของพวกเราด้วย และทำอย่างไรในการที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นชมรมสตรองต้านการทุจริต ของ ป.ป.ช.  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน คณะธรรมาภิบาลจังหวัด ในการผนึกกำลังของภาคประชนในการตอต้านการทุจริต

//////////////////////////////////