“หมอเชิดชัย” เปิดงานวิชาการเครือข่ายหัวใจ ครั้งที่ 15 บูรณาการ ประสานพลัง สร้างนวัตกรรมใหม่ หัวใจไร้กังวล **พันธุ์พงษ์ โพธิ์จินดา รายงาน**

แชร์ข่าวนี้

วันที่ 31 ม.ค.67 ที่ห้องประชุมโรงแรมรีเจ้นท์ชะอำ จ.เพชรบุรี รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการเครือข่ายหัวใจ ครั้งที่ 15 “CNF 15th Cardiac Network Forum 2024 : บูรณาการ ประสานพลัง สร้างนวัตกรรมใหม่ หัวใจไร้กังวล” จัดโดย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานเขตสุขภาพที่ 5

โดยโรงพยาบาลหัวหิน สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมแพทย์มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือดแห่งประเทศไทย สมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) และสมาคมพยาบาลโรคหัวใจและทรวงอก (ประเทศไทย) ระหว่างวันที่ 30 ม.ค.- 2 ก.พ.67 ที่โรงแรมรีเจ้นท์ชะอำ มี นพ.กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศก์ และผู้อำนวยการสำนักเขตสุขภาพที่ 5, นพ.วรา เศลวัตนะกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประจวบฯ, นพ.จิตตรัตน์ เตชวุฒิพร ผอ.รพ.หัวหิน,นพ.พงษ์ศักดิ์ โสภณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการ สุขภาพ ( Service Plan ) สาขาโรคหัวใจและประธานคณะกรรมการฝ่ายวิชาการและประเมินผลงานทางวิชาการ Cardiac Network Forum 2024 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เภสัช นักกายภาพบำบัด นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก สาธารณสุขนิเทศก์ จากโรงพยาบาลต่างๆ รวม 13 เขต กว่า 700 คน เข้าร่วมการประชุม

โดยจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การนำองค์ความรู้ใหม่ นวัดกรรม รูปแบบการดำเนินงานที่ดี รวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน สร้างความสามัคคีของผู้ปฏิบัติงานในสาขาโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกภาคส่วน พร้อมทั้งการนำเสนอรูปแบบการบริการที่เป็นเลิศเข้าถึงผู้รับบริการ  

รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ได้นำเอาทีมเวิร์คต่างๆจากทั่วประเทศ ที่มีประสบการณ์ทางการทำงานมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับทราบ พร้อมได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางและมหาวิทยาลัยมาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรม เพื่อฝึกสอนและให้ความรู้พร้อมทั้งอัพเดตให้ทันสมัยด้านโรคหัวใจยิ่งขึ้น โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ และที่ 1 ของโลก หากรักษาได้อย่างทันท่วงทีก็สามารถรอดชีวิตได้ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ฉะนั้นโรคหัวใจต้องการเครื่องมือที่ทันสมัย  เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพื่อให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ ความชำนาญทางด้านโรคหัวใจและทำงานเป็นทีมเวิร์ค ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่เจอบ่อยอาการหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และโรคอื่นๆที่มีผลต่อโรคหัวใจ เนื่องจากคนไทยปรับเปลี่ยนพฤติการณ์ การทานอาหารแบบชาติตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น

/////////////////////////////////////////////////