ลงสำรวจพื้นที่ เตรียมทำสะพานเข้าวัดพุทธอุทยานธรรมสถานถ้ำเกาะไผ่ (วัดเขาถ้ำ) **ฐิติชญา แสงสว่าง รายงาน**

แชร์ข่าวนี้

ผอ. ชลประทานปราณบุรีนำทีมวิศวะกร พร้อมทีมช่าง ลงสำรวจพื้นที่เตรียมสร้างสะพานข้ามฝายวัดพุทธอุทยานธรรมสถานถ้ำเกาะไผ่ (วัดเขาถ้ำ)  หลังชาวบ้าน และพระประสบปัญหาข้ามไปทำบุญ และพระออกมาบิณฑบาตไม่ได้  และยังทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง  ในการนี้ ส.ส.ต๊ง ร่วมสำรวจพร้อมหาแนวทางผลักดันงบประมาณช่วยเหลือประชาชน

เวลา  10.00  น.  วันที่  11  พฤษภาคม  2565  ที่บริเวณฝายน้ำวัดพุทธอุทยานธรรมสถานถ้ำเกาะไผ่ (วัดเขาถ้ำ)  หมู่ที่  5  ตำบลไร่ใหม่  อำเภอสามร้อยยอด  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   นายกานต์  โพธิดอกไม้  ผู้อำนวยการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี  นำทีมวิศวะกร และทีมช่างลงพื้นที่สำรวจฝายวัดพุทธอุทยานธรรมสถานถ้ำเกาะไผ่  (วัดเขาถ้ำ)   มีนายนายเกรียงไกร  ทิมแท้  หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัวสามร้อยยอด  อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด  ทหารชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน กองกำลังสุรสีห์ที่ 111  ผู้ใหญ่บ้าน  และชาวบ้านบางส่วนร่วมลงพื้นที่  โดยในการนี้นายมนตรี  ปาน้อยนนท์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ได้มาทางมาร่วมสำรวจพร้อมหาแนวทางเร่งผลักดันงบประมาณช่วยเหลือประชาชน

นายศิริ  อินประสิทธิ์  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5  บ้านเกาะไผ่  กล่าวว่า  จากกรณีที่ชาวบ้านได้ร้องเรียน และขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่หมู่บ้านเกาะไผ่นั้น  ก็ยังมีอีกหนึ่งปัญหาคือการสัญจรไปมาข้ามฝายบริเวณวัดเขาถ้ำนั้น  มักจะเกิดอุบัติเหตุอยู่เป็นประจำ  เนื่องจากจะมีน้ำไหลอยู่ตลอด  บางช่วงก็ไหลแรง  และที่สำคัญคือจะมีตะใครน้ำเกาะอยู่ที่พื้นถนนเป็นเหตุทำให้มีทั้งรถ  และคนเดินลื่นตกน้ำอยู่เป็นประจำ  ชาวบ้านจะเข้าไปทำบุญ หรือพระจะออกมาบิณฑบาตก็ลำบาก  จนล่าสุดพระนั่งรถจะออกมาบิณฑบาตแล้วรถเกิดลื่นตกลงไปในฝาย  จึงไม่มีใครกล้าข้ามเพราะกลัวอันตราย  ก็เลยอยากได้สะพานเพื่อให้ทั้งพระ และชาวบ้านได้ใช้ข้ามไปมาได้สะดวกขึ้น

ด้านนายกานต์  โพธิดอกไม้  ผู้อำนวยการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี   กล่าวว่า  จากที่ชาวบ้านร้องขอให้ทางกรมชลประทานเข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก  โดยที่ผ่านมาได้มีการทำประชาพิจารณ์กันไปแล้วนั้น  นอกจากเรื่องของการสร้างอาคารระบายน้ำแล้ว  ก็จะมีเรื่องของฝายแห่งนี้  ที่เวลามีน้ำหลากมาจะไม่สามารถข้ามได้  ทั้งชาวบ้านและพระไม่สามารถข้ามได้  ทางเราก็เลยวางแผนที่จะสร้างสะพานคร่อมฝายน้ำล้น  อีกกรณีหนึ่งก็คือ   กรณีที่น้ำมาเยอะๆ  น้ำไหลลงทะเลไม่ทัน  ทางเราก็จะสร้างอาคารระบายน้ำเพื่อให้สามารถระบายน้ำจากอีกฝั่งไปยังอีกฝั่งได้อย่างรวดเร็ว  ซึ่งทางฝ่ายออกแบบกำลังดูรูปแบบที่เหมาะสม และสามรถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ให้มากที่สุด   ส่วนเรื่องของการทำสะพานขณะนี้ก็ยังไม่พบปัญหา หรืออุปสรรคอะไรที่ยังแก้ไขไม่ได้  ยังเป็นปัญหา และอุปสรรคพื้นๆ  ที่สามารถแก้ไขได้  รูปแบบก็จะเป็นสะพานตามมาตรฐานของกรมทางหลวงชนบท  คาดว่าเบื้องต้นจะยกสูงขึ้นมาเพราะข้างล่างจะต้องมีน้ำให้โอเวอร์โฟลว์ (ล้น)  ฝายเดิมได้  และตอหม้อจะต้องไม่กีดขวางทางน้ำ  ซึ่งรูปแบบตรงนี้เดี๋ยวทางวิศวะกรผู้ออกแบบจะเป็นคนคำนวณ  เพื่อหารูปแบบให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานให้มากที่สุด

ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเหมาะสม  และก็ออกแบบอยู่  ส่วนเรื่องงานก่อสร้างจะเป็นเรื่องของงบประมาณซึ่งพอเรามีความพร้อมตรงนี้เราก็จะไปขออนุญาตกับทางอุทยานฯ  ถ้าทางอุทยานฯ  อนุญาตเราก็ไปของบประมาณเพื่อดำเนินการต่อไป

////////////////////////////////////////////////////////////////