จี้เทศบาลเมืองประจวบฯเปิดรายได้ตลาดถนนคนเดิน ตลาดประชารัฐ หลังแม่ค้าเททิ้งลูกชิ้นผีบอกหน้าศาลากลางจังหวัด (คลิป) ** สุรยุทธ ยงชัยยุทธ รายงาน**

แชร์ข่าวนี้

กรณีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 นางน้ำค้าง ทรัพย์ศรี อายุ 43 ปี ชาว อ.เมืองประจวบฯ แม่ค้าลูกชิ้นผีบอก ที่ตลาดโครงการประชารัฐคนไทยยิ้มได้ หรือตลาดคนเดินเต็นท์สีชมพู หน้าสะพานสราญวิถี วันศุกร์ – เสาร์ ที่ถนนเลียบหาดในเขตเทศบาลเมืองประจวบเมืองประจวบฯ นำภาชนะใส่ลูกชิ้นและน้ำจิ้มผีบอก เททิ้งที่หน้าบันไดทางขึ้นศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายหลังยื่นเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นานกว่า 3 เดือน  มีการเจรจากับหลายหน่วยงานตั้งแต่เดือนตุลาคมแต่ไม่มีความคืบหน้า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานใด

ความคืบหน้า วันที่ 19  ธันวาคม นายเสริมศักดิ์ สีมาพานิช หรือ สท.ผอม  อดีตสมาชิกสภาเทศบาลเมืองประจวบฯ    กล่าวว่า  เมื่อปี  2553  เป็นผู้ประสานงานร่วมกับนายกเทศบาลเมืองประจวบฯ  เพื่อจัดทำโครงการถนนคนเดินที่ถนนเลียบหาดหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองประจวบฯจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่จำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย โดยเก็บเงินค่าค่าขยะ ค่าไฟฟ้า ค่าแผงเพียง 40 – 60 บาท ให้เด็กนักเรียน เยาวชนมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย  ความยาวของตลาดก็ไม่เหมือนปัจจุบัน เริ่มจากสะพานสราญวิถีไปทางทิศเหนือไปถึงห้องน้ำในสวนสาธารณะของเทศบาล   สำหรับสินค้าแฟรนไชส์ที่ที่มีปัญหาทำให้มีการนำลูกชิ้นไปเทหน้าศาลากลางไม่มีการปิดกั้นหรือมีข้อห้าม ขณะที่ตลาดประชารัฐเข้ามาขอเปิดตลาดในภายหลัง  ทำให้เทศบาลต้องขยายความยาวถนนในราชกิจจานุเบกษาฉบับที่จะหมดอายุในวันที่ 22 ธันวาคมนี้

“ปัจจุบันตลาดถนนคนเดินทำไมจึงมีค่าใช้จ่ายของแม่ค้า 3 ราคา ผู้เกี่ยวข้องไม่เคยชี้แจงว่าทำไมจึงทำให้ตลาดของประชาชน กลายเป็นธุรกิจโดยไม่ได้ช่วยชาวบ้านอย่างแท้จริง  แม่ค้าที่ต้องการค้าขายไม่มีที่สถานที่ค้าขาย ได้สอบถาม ผอ.กองสวัสดิการ เทศบาลเมืองประจวบฯอ้างว่าแผงเต็มแล้ว  หากจะขายจริงๆก็ต้องไปไกลถึงหน้าสำนักงาน อบจ.ก็ต้องไปขออนุญาตจากบุคคลภายนอกที่เข้ามาดูแลตลาดซึ่งน่าจะผิดเงื่อนไขในการใช้ทางสาธารณะ  ทั้งที่ความเป็นจริงตลาดแห่งนี้ควรไม่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ทุกคนควรเท่าเทียมกัน ไม่ต้องใช้เส้นสาย  ตลาดแห่งนี้ควรเป็นสถานที่ขายสินค้าของชาวประจวบฯที่ต้องการพื้นที่ทำกินหารายได้เลี้ยงครอบครัว ”

นายเสริมศักดิ์ กล่าวอีกว่า โอกาสที่ตลาดแห่งนี้จะกลับไปใช้หลักการเดิมเพื่อคนประจวบฯ ยังสามารถทำได้ แต่ผู้เกี่ยวข้องต้องไม่เกี่ยวข้องกับวงจรผลประโยชน์แอบแฟงซึ่งยอมรับว่ามีเยอะมาก  ตนยอมรับว่าช่วงแรกที่ทำตลาดก็มีผลประโยชน์มาก แต่จะทำอย่างไรเพื่อปิดช่องโหว่ ขณะที่ปัจจุบันยังมีการออกระเบียบตั้งแต่ปี 2563 เพื่อจ่ายค่าตอบแทนที่ปรึกษาวันละ 1,000 บาท ซึ่งไม่ทราบว่ามีระเบียบหรือกฎหมายฉบับใดรองรับ ทั้งนี้รายได้จากถนนคนเดินไม่ได้นำไปผ่านสภาเทศบาล  แต่ส่วนตัวยังสงสัยว่า 13 ปีที่ผ่านเม็ดเงินจากตลาดหรือรายได้จากแม่ค้าหายไปไหน  ทั้งที่สามารถนำงบส่วนนี้เข้ามาพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องรองบที่มีขั้นตอนการเบิกจ่าย  น่าสนใจว่าเม็ดเงินจากตลาดในปัจจุบันสูญหายไปไหน และปัจจุบันยังมีการขยายตลาดทำให้มีรายได้จากโครงการตลาดประชารัฐเข้ามาเสริม  แต่ไม่เคยนำมาเปิดเผยรายได้ รายจ่ายให้ประชาชนรับทราบ

มีรายงานว่า  ก่อนที่แม่ค้าจะเทลูกชิ้นหน้าศาลากลางจังหวัดประจวบฯตัวแทนสื่อมวลชนได้สอบถามเจ้าหน้าที่พัฒนาการจังหวัดที่ห้องประชุมศูนย์ดำรงธรรมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 เพื่อขอสำเนาเอกสารการชี้แจงจากปัญหาการร้องเรียนของแม่ค้าลูกชิ้นผีบอก แต่ได้รับคำตอบจากศูนย์ดำรงธรรมว่ายังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากยังไม่มีผู้มีอำนาจลงนามในเอกสาร  ขณะที่ช่วงเช้าวันนี้คณะกรรมการตลาดประชารัฐร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่พัฒนาการจังหวัด

จ่าอากาศเอกเสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า มีบางฝ่ายกล่าวหาว่าการนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชน ทำให้เกิดความเสียหายกับบ้านเมือง โดยนำเสนอไม่รอบด้าน  ประเด็นนี้ตนอยู่ในห้องประชุม ตัวแทนสื่อได้สอบถามแล้วเพื่อขอข้อมูลการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   แต่ยังไม่ได้รับเอกสาร  ถามว่าปัญหานี้จะเกิดจากสื่อนำเสนอไม่ครบถ้วนจริงหรือไม่ หรือความเสียหายจะมาจากหน่วยราชการที่ไม่มีความพร้อมในการนำเสนอข้อมูล ขอยืนยันว่าสื่อไม่มีส่วนได้เสียอะไร ไม่ได้กินลูกชิ้นฟรี ไม่ได้รับจ้างไปทำข่าวให้แม่ค้า  สื่อและตัวแทนภาคประชาชนต้องการความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

จ่าอากาศเอกเสกสรรค์  กล่าวว่า ก่อนที่แม่ค้าจะเทลูกชิ้นเครือข่ายฯได้ทำหนังสือสอบถามเทศบาลเมืองประจวบฯแต่ล่าสุดยังไม่ได้รับการชี้แจง  โดยสอบถามว่ากรณีที่เทศบาลเมืองประจวบฯเสนอให้เจ้าพนักงานจราจรจังหวัดประกาศปิดถนนทางหลวงหมายเลข 3167 (เลียบชายทะเล)   เพื่อปิดถนนคนเดิน 605  เมตร  รวมตลาดประชารัฐ โดยนำข้อมูลมาจากกูเกิ้ล แม็ป มีเอกสารใดของทางราชการรองรับ  หรือมีเจตนาซ่อนเร้น หรือไม่ในการใช้ชื่อถนนโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบ  นอกจากนั้นหลายปีที่ผ่านมาผู้บริหารเทศบาลเมืองประจวบฯ  เจ้าหน้าที่กองสวัสดิการสังคมฯไม่นำรายรับ รายจ่ายจากการปิดถนนขายสินค้าชี้แจงกับสาธารณชนว่ามีการอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายใดเพื่อจัดเก็บรายได้บนทางสาธารณะที่เป็นถนนทางหลวงและนำรายได้ไปใช้ประโยชน์อย่างไรกับทางราชการหรือประชาชนในท้องที่ เนื่องจากเป็นรายได้จัดเก็บนอกระบบการเงินการคลังปกติ ที่ไม่ต้องส่งให้กองคลังเก็บรักษา

มีรายงานว่า การประชุมเพื่อขี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 16 ธันวาคม 2566 ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด จะมีการสอบถามกรณีการเปิดตลาดประชารัฐหลังเลิกใช้เต๊นท์โลโก้ของธนาคารออมสินที่เข้ามาสนับสนุนในช่วงแรกเมื่อหลายปีก่อน    จากนั้นสำนักงานพัฒนาการจังหวัดมีการสวมรอยปิดถนนเปิดตลาดประชารัฐโดยที่ถนนยังไม่มีประกาศปิดในราชกิจจาฯ แต่มีการใช้เงินของทางราชการ 5 – 8 หมื่นบาท ซื้อเต็นท์สีชมพู76 หลัง ซึ่งยังไม่มีใครทราบว่าจะมีเลขคุมทะเบียนพัสดุหรือมีฎีกาเบิกจ่ายค่าซ่อมเต๊นท์หรือไม่   นอกจากนั้นจะขอให้นางน้ำค้าง ทรัพย์ศรี ชาวบางสะพานที่ขายลูกชิ้นที่ใช้ชื่อโลโก้ “ผีบอก” ไม่ได้ ในอดีตเคยไปรับจ้างกางเต๊นท์สีชมพูในยุคที่เปิดตลาดใหม่ ๆ ออกมายืนยันข้อเท็จจริงว่า เคยมีการใช้ชื่อคนใกล้ชิดเป็นนอมินีเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณของทางราชการในตลาดประชารัฐหรือไม่ กับข้าราชการรายใดที่สำนักงานพัฒนาการจังหวัด

////////

สุรยุทธ ยงชัยยุทธ รายงาน