ชุมพร เปิดประชุมสภาเกษตรกร แก้ไขหลายปัญหา เดินหน้าพัฒนาคุณภาพผลผลิตทุเรียนชุมพรตามมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสู่ตลาดโลก
วันที่ 21 ก.พ.67 ที่ห้องประชุมเกาะทองหลาง ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดชุมพร นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ได้เปิดการประชุมสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ครั้งที่ 3/2567 โดยมีสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ทุกเขตจำนวน 21 คน และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรกร เข้าร่วมประชุม โดยมีเรื่องที่สำคัญเช่น พิจารณาขอความเห็นชอบปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้ จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 การพิจารณาขอความเห็นชอบร่างคำสั่งสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้าน
ซึ่งจะเปิดรับสมัครเร็วๆนี้ พิจารณาขอความเห็นชอบปัญหาและความต้องการแนวทางการแก้ไขปัญหาและข้อเสนอในการพัฒนาของเกษตรกรจังหวัดชุมพร เรื่อง (ทุเรียน และ ลูกจันทร์เทศ) พิจารณาขอความเห็นชอบร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาคุณภาพผลผลิตทุเรียนชุมพรตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน พิจารณาขอความเห็นชอบร่างโครงการยุทธศาสตร์ทุเรียน ไทยบุกตลาดประเทศจีน พิจารณาขอความเห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนพัฒนา เกษตรกรรมระดับจังหวัด พ.ศ. 2567 – 2570
นอกจากนี้ นายประเสริฐ ช่วยละแม รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ได้นำปัญหาแมลงดำหนามกัดกินใบอ่อนมะพร้าวทำให้ใบส่วนยอดถูกทำลาย เข้าสู่สภาฯ โดยขอให้ประสานกับเกษตรจังหวัดชุมพร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา นายเจริญ อาจประดิษฐ์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร อำเภอท่าแซะ เขต 3 นำปัญหา เชื้อเห็ด กาโนเดอร์มา (Ganoderma) กัดกินทําลายเซลล์ในลําต้นปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ตำบลสลุย ทำให้เกิดความเสียหาย ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาสำรวจความเสียหาย และหาทางแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายลุกลามออกไปมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้ขอให้ สนง.สภาเกษตรกร ประสานชลประทานชุมพร ส่งฝ่ายช่างเข้าดำเนินการสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างฝายเก็บน้ำ “ทับอินทนิน” หมู่ที่ 10 ต.หงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ
นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของแมงดำหนามได้เตรียมให้ จนท.สำนักงานทำเอกสารแนะนำการปราบแมลงดำหนามเพื่อเตรียมเผยแพร่ป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีปาล์มนำมัน หลังได้รับหนังสือร้องเรียนจากเกษตรกรชาวสวนปาล์มผ่านมาทางสมาชิกสภาฯ ได้ทำหนังสือถึง ผอ.ศูนย์วิจัยสุราษฎรธานี เพื่อขอให้ส่งนักวิชาการเข้ามาสำรวจเพื่อแก้ปัญหาเชื้อเห็ดที่ทําลายลําต้นปาล์มน้ำมันที่เกิดขึ้น สำหรับการก่อสร้างฝายทับอินทนิน จะได้ดำเนินการต่อไป
** กองบรรณาธิการข่าว รายงาน