สระบุรี-กรมทางหลวง จัดประชุมสรุปผลการสำรวจและออกแบบขยายถนน 4 ช่องจราจรช่วงอ่างทอง – ต.บางโขมด แก้ปัญหาจราจร รองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต**ชาญวิทย์ คำนวนวุฒิ รายงาน**

แชร์ข่าวนี้

วันที่ 28 เมษายน 2566 เวลา 09.00 น. ที่หอประชุม อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี กรมทางหลวง โดยสำนักสำรวจและออกแบบ ได้จัดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3)  โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบ ทางหลวง 4 ช่องจราจรบนทางหลวงหมายเลข 3267 ช่วงอ่างทอง – ต.บางโขมด โดยได้รับเกียรติจาก นายคำรณ เทือกสุบรรณ ปลัดอาวุโสอำเภอดอนพุด เป็นประธานเปิดการประชุม และมีนายเพิ่มวุฒิ บูรพาศิริวัฒน์ วิศวกรโยธา ชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง กล่าวรายงาน เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และผลการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการให้มีความสมบูรณ์ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม

ภายหลังเปิดการประชุม นายเพิ่มวุฒิ บูรพาศิริวัฒน์ วิศวกรโยธาฯ กรมทางหลวง เปิดเผยในรายละเอียดเพิ่มเติมว่า กรมทางหลวง โดยสำนักสำรวจและออกแบบ ได้จัดการประชุมเพื่อสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) ขึ้น สำหรับแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงหมายเลข 3267 ประมาณกม.0+400 ตั้งอยู่ บนพื้นที่ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง และมีจุดสิ้นสุดบนทางหลวงหมายเลข 3267 ประมาณ กม.25+855 ตรงบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3022 ตั้งอยู่บนพื้นที่ ตำบลบางโขมด อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ระยะทางรวมประมาณ 25.40 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้างราว 3,500 นบาท โดยปัจจุบันแนวเส้นทางโครงการเป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) กรมทางหลวงจึงจำเป็นต้องขยายช่องจราจรจากเดิม เป็นขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) หรือมากกว่า เพื่อรองรับการเดินทางที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และช่วยให้การเดินทางมีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น โดยมีรูปแบบการพัฒนาโครงการ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ดังนี้

1.รูปแบบทางหลวงโครงการ จะก่อสร้าง 2 ช่วงตามลักษณะของพื้นที่ ถนนช่วงทั่วไปหรือช่วงนอกเขตชุมชน ประกอบด้วย 1) ออกแบบเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1 เมตร และมีเกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต (Barrier Median)  และ 2) ถนนช่วงในเขตชุมชน ออกแบบเป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) กว้างช่องละ 3.5 เมตร พร้อมทางเท้าและมีเกาะกลางแบบยก (Raised Median)

2.รูปแบบจุดตัดทางแยก มีการพัฒนาจุดตัดทางแยก จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย 1) จุดตัดทางแยกทางหลวงหมายเลข 3267 กับทางหลวงหมายเลข 347 และทางหลวงหมายเลข 3196 บริเวณแยกเจ้าปลุก ออกแบบเป็นสะพานข้ามแม่น้ำลพบุรี บนทางหลักขนาด 5 ช่องจราจรต่อทิศทาง ทางหลวงหมายเลข 347 ขยายทางรองเป็น

3 ช่องจราจรต่อทิศทางและจัดการจราจรบริเวณทางแยกด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร 2) จุดตัดทางแยกทางหลวงหมายเลข 3267 กับทางหลวงหมายเลข 3467 โดยมีรูปแบบการปรับปรุงบนทางหลวงหมายเลข 3267 บริเวณ ทางแยกในทิศทางที่เข้าทางแยกออกแบบเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร ส่วนในทิศทางที่ออกจากทางแยกออกแบบเป็นถนนขนาด 3 ช่องจราจร ส่วนรูปแบบถนนบริเวณทางแยกบนทางหลวงหมายเลข 3467 ออกแบบเป็นถนนขนาด  3 ช่องจราจรต่อทิศทาง และจัดการจราจรบริเวณทางแยกด้วยระบบสัญญาไฟจราจร 3) จุดตัดบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟ ก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟใหม่ขนาด 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง พร้อมทั้งลดความลาดชันของสะพานลงจากเดิม 3.รูปแบบโครงสร้างสะพาน ประกอบด้วย 1) ขยายความกว้างสะพานข้ามลำน้ำทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่

1.คลองบางแก้ว (กม.1+773) 2.คลองหนองม่วง (กม.2+859) 3.คลองหนองหม้อ (1) (กม.3+235) 4.คลองหนองหม้อ (2) (กม.3+411) 5.คลองบางนา (กม.8+974) 6.คลองบางพระครู (กม.10+251) 7.คลองหนองมน (กม.11+135) โดยขยายออกทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของสะพานเดิม ข้างละ 7 เมตร 2) ก่อสร้างสะพานใหม่ข้ามแม่น้ำลพบุรี ขนาด  5 ช่องจราจรต่อทิศทาง รูปแบบโครงสร้างส่วนบนมีลักษณะเป็น Box Beam ช่วงสะพานยาว 20 เมตร 3) ก่อสร้างสะพานใหม่ข้ามทางรถไฟ โดยรื้อสะพานเดิมออกและก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง รูปแบบโครงสร้างส่วนบนมีลักษณะเป็น I-Girder แบบ haft joint ช่วงสะพานยาว 30 เมตร

พร้อมกันนี้ โครงการได้ทำการออกแบบระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ป้าย เครื่องหมาย สัญญาณไฟจราจร และสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยต่างๆ รวมทั้งออกแบบจุดกลับรถ ทั้งหมด 12 ตำแหน่ง โดยออกแบบเป็นจุดกลับรถระดับพื้น 9 แห่ง และจุดกลับรถใต้สะพาน 3 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้นแล้วที่ปรึกษาฯ ได้ทำการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการครอบคลุมทั้งในระยะเตรียมการก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ โดยได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมาตรการติดตามและตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การพัฒนาโครงการส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ภายหลังจากการศึกษาในครั้งนี้แล้วเสร็จ กรมทางหลวง จะดำเนินการเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งคาดว่าโครงการจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้เร็วที่สุดในปี พ.ศ.2570 และสามารถเปิดใช้งานได้ใน ปี พ.ศ. 2573 เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทาง ส่งเสริมการท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าในระหว่าง จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระบุรี ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตลอดจนสามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างเพียงพอ โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.อ่างทอง-บางโขมด.com  2.แฟนเพจเฟสบุ๊ค : โครงการสำรวจออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทล.3267 ช่วงอ่างทอง-ต.บางโขมด และ 3.Line Official : @936dnohs

/////////////////////////////////////////////////////

ชาญวิทย์ คำนวนวุฒิ รายงาน