กรมชลประทาน ร่วมกับ อบต.ไร่ใหม่ ส่งน้ำเติมบ่อช่วยเกษตรกรอำเภอสามร้อยยอด(คลิป) **ฐิติชญา แสงสว่าง รายงาน**

แชร์ข่าวนี้

ชลประทานประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานชลประทานที่ 14   อบต.ไร่ใหม่  สนับสนุนรถบรรทุกน้ำให้ความช่วยเหลือ  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอสามร้อยยอด  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมขอช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด

เมื่อเวลา  15.30  น.  วันที่  6  กรกฎาคม 2566  ที่ผ่านมาที่บ่อกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของ นางยุพา   รุ่งเรืองจำเริญ  อายุ  48  ปี  อยู่บ้านเลขที่  668  หมู่ 4  ตำบลไร่ใหม่   อำเภอสามร้อยยอด  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  กรมชลประทานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  สำนักงานชลประทานที่  14  โดยนายกานต์  โพธิ์ดอกไม้  ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี  พร้อมด้วย นายไพโรจน์  มีประมูล   นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใหม่  นำรถบรรทุกน้ำ  นำน้ำมาเติมลงในบ่อน้ำเพื่อการเกษตร  ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ตำบลไร่ใหม่  ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง  ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร

นายกานต์  โพธิ์ดอกไม้  ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี  กล่าวว่า  ทางกรมชลประทานโดยท่านอธิบดีกรมชลประทาน  ได้สั่งการให้หน่วยงานของกรมชลประทาน  บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น  หน่วยงานของกระทรวงเกษตรในพื้นที่ เข้าสำรวจพื้นที่โดยร่วมกับท่านนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ  สำรวจว่ามีที่ไหนประสบภัยแล้งบ้าง  ถ้าพบว่าประสบภัยแล้ง พืชผล  ผลผลิตด้านเกษตรเสียหาย  ก็ให้เราสนับสนุน  เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ  รถแม็คโคร  เครื่องสูบน้ำ  รวมทั้งรถบรรทุกน้ำ  ในเขตชลประทานเข้าช่วยเหลือ  ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราก็ช่วยเหลือไปหลายที่  โดยเฉพาะเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา  เราก็ไปช่วยแปลงใหญ่มะม่วงในพื้นที่ตำบลหนองตาแต้ม  และก็มีไปช่วยที่เขาจ้าว เป็นสวนทุเรียน  ตอนนี้เราก็กำลังช่วยแปลงใหญ่ขนุนในเขตพื้นที่ของอำเภอสามร้อยยอด   นอกจากพืชผลทางการเกษตรแล้ว  เรื่องของน้ำอุปโภค บริโภค เราก็ให้ความสำคัญ  ตอนนี้หลายๆ  จุดขาดแคลนน้ำแล้วโดยเฉพาะประปาหมู่บ้านทางเราก็ระดมรถน้ำ  นำน้ำไปเติมให้กับประปาหมู่บ้านหลายๆ  แห่ง ทั้งในเขตอำเภอปราณบุรี  สามร้อยยอด  แม้กระทั่งกุยบุรี

ตอนนี้หลายๆ  จุดได้รับผลกระทบในเรื่องขาดแคลนน้ำทั้งอุปโภค  บริโภค และน้ำทำการเกษตร  ซึ่งน้ำในเขื่อนปราณบุรีตอนนี้มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ประมาณ 17  เปอร์เซ็นต์  ซึ่งเป็นน้ำใช้งานได้แค่  13  เปอร์เซ็นต์  ถ้าเราใช้สำหรับอุปโภค  บริโภคเพียงอย่างเดียวก็จะมีเพียงพอใช้ตลอดทั้งปี  ส่วนพืชผลการเกษตรเราก็จะสนับสนุนเฉพาะพันธุ์ไม้ยืนต้นไม่ให้ตาย  และตอนนี้เราก็งดแผนการส่งน้ำแล้ว  แต่จะเริ่มส่งน้ำตอนประมาณปลายเดือนกรกฎาคม   จากการประชุมกับทางกลุ่มผู้ใช้น้ำต่างๆ ในเขตของเขื่อนปราณบุรี  ซึ่งประกอบไปด้วย อำเภอหัวหิน  อำเภอปราณบุรี  อำเภอสามร้อยยอด  อำเภอกุยบุรี รวมกระทั่งอำเภอเมืองบางส่วน  เราก็ประชุมร่วมกัน และก็กำหนดแผนการส่งน้ำ  เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยแล้ง ณ ปัจจุบัน  โดยเราเริ่มแผนการส่งน้ำแรกในวันที่  24  กรกฎาคม  แล้วเราจะส่งน้ำเดือนเว้นเดือน  แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพฝน ณ ช่วงเวลานั้นๆ  ด้วยว่าเป็นยังไง และเราก็จะประเมินอีกครั้ง

ช่วงนี้อยากจะให้ทุกคนร่วมกันประหยัดน้ำ  เพราะว่าตอนนี้ทางเราเองก็ประสบปัญหาภัยแล้ง และเราก็ยังต้องสำรองน้ำในเขื่อนของเราไว้ใช้สำหรับปีหน้า  ซึ่งปีหน้าก็อาจจะมีแนวโน้มว่าฝนจะทิ้งช่วงแบบนี้อีก  เพราะฉะนั้นเราจะพยายามบริหารจัดการน้ำ โดยเรียงลำดับความสำคัญคืออันดับหนึ่งก็เป็นเรื่องของการอุปโภค  บริโภค  2.เรื่องของการรักษาระบบนิเวศฯ  3.เรื่องของการสำรองน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค ไว้สำหรับปีหน้า 4.เป็นเรื่องของอุตสาหกรรม และ 5.เป็นเรื่องของการเกษตร  เราก็จะเรียงลำดับความสำคัญประมาณนี้  ก็ขอให้ทุคนวางใจได้ว่าทางกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำอย่างดีที่สุด และก็ให้ทั่วถึงกัน แจกจ่ายน้ำทั่วถึงกันและเป็นธรรม

ด้านนางยุพา   เกษตรกร  กล่าวว่า ตอนนี้ภัยแล้งก็ยังแล้งเหมือนเดิม พอฝนตั้งเค้ามาลมพัดก็ไปหมด  ตอนนี้ได้น้ำมาก็ดีหน่อยจะได้รดต้นขนุน  ต้นขนุนก็เริ่มดีมาหน่อย เริ่มแตกใบอ่อน ก็ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ  ดีใจมากเลยต้องขอบคุณกรมชลประทานกับนายกไพโรจน์  มีประมูล และคณะด้วย

ด้านนายนิยม  นาดี   เกษตรกร  ก็กล่าวว่า  ดีใจมาก  ก็ขอขอบคุณทางกรมชลประทานทุกคน  ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกคนเลย  ดีใจมากเลย  ดีใจเหมือนถูกหวยเลย  ตอนนี้ขนุนที่สวนเริ่มแตกใบอ่อนแล้ว จากที่ทำท่าจะตาย เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ไม่เคยได้น้ำเลย พอกรมชลประทานเอาน้ำมาให้ ตอนนี้เริ่มมีใบอ่อนแล้ว  ตอนนี้ก็เริ่มบำรุงราก บำรุงต้นอะไรของเราไป  และก็รอผลผลิตที่จะออกมาในช่วงต่อไป

ด้านนายไพโรจน์  มีประมูล  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใหม่   กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่หมู่ 4  ตำบลไร่ใหม่  เป็นพื้นที่ ที่ทำขนุนส่งออกเป็นอันดับต้นๆ  ของจังหวัดประจวบฯ  มีหลายร้อยไร่เลยที่ประสบปัญหาภัยแล้ง  ทาง อบต.  ก็ได้ทำงานบูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน  นำแม็คโครไปขุดลอกตามลำห้วยเส้นเนินพยอม-หนองจิก  ทำให้เป็นบอม  เป็นแอง  ก็จะมีน้ำขังอยู่ชาวบ้านก็สามารถดูดน้ำส่งไปตามไร่ได้  ในบางส่วนก็ใช้รถของกรมชลประทานมาดูดน้ำจากสระของผมเอง นำไปแจกจ่ายตามบ้านคนที่มีบ่อที่สามารถเก็บกักน้ำได้  ซึ่งตอนนี้ทาง อบต.เองก็พยายามหาแหล่งน้ำเพื่อนำน้ำไปช่วยชาวบ้าน รวมถึงสระของที่บ้านผมของด้วย  เราทำงานเชิงรุก และทำงานอย่างต่อเนื่อง พอรู้ว่าเริ่มแล้งเราก็ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ทันที โดยเมื่อวันที่ 7  มิ.ย.  สนง.โยธาฯ, สนง.ชลประทานที่ 14,ปภ.เขต 4, และอำเภอสามร้อยยอด ร่วมกันหารือแนวทางการช่วยเหลอเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง และลงพื้นที่สำรวจแหล่งน้ำ  วันที่ 14 มิ.ย.โครงการชลประทานจังหวัดประจวบฯ ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่อ่างเก็บน้ำชุมนุมกระดาน หมู่ที่ 4  เพื่อสูบน้ำไปยังฝายประชาอาสา และแหล่งน้ำใกล้เคียงจนถึงวันที่ 25 มิ.ย.  และวันที่ 19  มิ.ย. เครื่องจักรของกรมชลประทานได้ดำเนินการขุดลอกสระเก็บน้ำ (บ่อตาเดช)  ขุดลอกดิน  หิน  ตะกอยทราย  ขุดลอกลำห้วยเขาแกว ซึ่งมีพื้นที่แปลงขนุนของเกษตรกรเสียหายแจ้งความประสงค์  15  ราย  เนื้อที่รวม  28 ไร่  1  งาน  (ข้อมูลหลังจากตรวจสอบแปลง  เมื่อ 22 มิ.ย. 66)  และก็ได้เครื่องจักรของกรมชลประทานมาขุดลอก  ตอนนี้ระยะทาง 3  กิโลเมตร  ก็ใกล้เสร็จแล้ว  ผลดีคือจากลำห้วยธรรมดา  เราทำให้เป็นบอม เป็นแอ่งให้  ชาวบ้านก็สามารถดูดน้ำไปรดขนุน รดมะม่วง รดสับปะรดได้   แต่ก็อยากฝากพี่น้องตำบลไร่ใหม่ทุกท่าน ถ้าเรามีแหล่งน้ำแบ่งปันกันได้ ก็แบ่งปันกัน  ส่วนของผมก็มีแหล่งน้ำอยู่  ใครจะนำน้ำไปใช้ในเรื่องของการเกษตร ก็มาติดต่อได้ที่ผม  ไม่หวงห้าม  ก็อยากให้ช่วยกัน  ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  นอกจากจะคอยความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ  เพราะบางทีก็อาจจะมาส่งไม่ทันบ้างอะไรบ้าง

ตอนนี้พื้นที่ของตำบลไร่ใหม่ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมีประมาณ  80  เปอร์เซ็นต์   ช่วงนี้ก็เริ่มมีฝนมาบ้าง ต้นไม้ก็ได้ฟื้นฟู  เริ่มมีใบเขียวขึ้นมาบ้าง  คาดว่าถ้าฝนไม่มาอีก 2  เดือน  คือเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม  นี่คือแย่แน่นอน  ต้นไม้ตายอีกแน่นอนถ้าไม่มีฝนมา

//////////////////////////////////////////